ประวัติและความสำคัญ วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม วันสวรรคตรัชกาลที่ 5
เปิดประวัติและความสำคัญของวันปิยมหาราช วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ผู้มอบอิสรภาพคืนสู่ประชาชนไทย
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้มอบอิสระคืนสู่คนไทยด้วยการยกเลิกการขายทาสจนสามารถพลิกฟื้นความเจริญรุ่งในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเหตุการณ์สำคัญของชาติ หน่วยงานราชการจึงประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า “วันปิยมหาราช”
ประวัติวันปิยมหาราช
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้แก่ปวงชนชาวไทยจำนวนมาก โดยในปลายชีวิตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระอาการทรุดลงตามลำดับ สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หน่วยงานราชการในขณะนั้นได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า “วันปิยมหาราช” ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ถวายพระสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ของคนในประเทศก่อนเสมอ
ขณะนั้นเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยร่วมด้วยสำนักพระราชวังได้จัดให้สักการะและตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างงดงาม ประกอบด้วยราชวัติฉัตร 5 ชั้น โคมไฟระย้า พร้อมถวายเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำทุกปี พิธีในวันปิยมหาราชจึงสืบทอดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
โดยพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันปิยมหาราชครั้งแรกเกิดขึ้นต่อจากปีที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรัชกาลที่ 6 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์
ครั้นเมื่อครองราชย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของปวงชน ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณหลายประการ อาทิ การปกครองบ้านเมือง พัฒนาการศึกษา การศาล การทหาร การต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลิกทาสที่เป็นการคืนอิสรภาพและความสุขแก่ปวงชน จึงได้สร้างเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์อันทรงคุณค่าของคนไทย
พระบรมรูปทรงม้า สัญลักษณ์แห่งวันปิยมหาราช
สืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ และปวงชนชาวไทยต้องการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงร่วมใจกันนำเงินสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช
ตั้งประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.2451 ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปอย่างยิ่งใหญ่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี
กิจกรรมวันปิยมหาราช
วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและอกชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงคนไทยทุกคนจะมาสักการะวางพวงมาลัยและดอกกุหลาบสีชมพูอันเป็นสีของวันอังคาร วันพระราชสมภพมาถวายเพื่อแสดงความเคารพและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกันทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศล ด้านหน่วยงาน โรงเรียน และมหาวิทยาลัยมีการจัดนิทรรศการเล่าถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ประกอบกับคุณูปการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างไว้ให้กับประเทศไทย