อ.เจษฎา เฉลยแล้ว ทำไมรถเทสลา ตรวจเห็น “ผี” ในสุสานได้

คลายข้อสงสัย อาจารย์เจษฎา ตอบปัญหาคาใจด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ ไวรัลติ๊กต๊อก ขับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ล่าผี แล้วตรวจจับเจอวัตถุบางอย่าง ชี้อาจเป็นความผิดพลาดของระบบเซนเซอร์และซอฟต์แวร์ของรถ
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่าน Facebook อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับคลิป TikTok ที่กำลังไวรัลตอนนี้ จากการมีคนนำรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ไปขับบริเวณเมรุเผาศพ แล้วเซนเซอร์ตรวจจับ “พลังงานบางอย่าง” ที่มีลักษณะคล้ายคนที่ข้างรถ สรุปแล้วเป็นผีจริงหรือความผิดปกติของรถกันแน่
ตามรายงานข่าวระบุว่า มีชื่อผู้ใช้บัญชี TikTok ชื่อว่า @aunnyc ได้โพสต์คลิป “Tesล่าท้าผี” โดยเธอขับเก๋งไฟฟ้าเทสล่า เข้าไปวนรอบเมรุ ณ วัดแห่งหนึ่ง โดยจากคลิปจะเห็นได้ว่า ระบบ Tesla Vision เทคโนโลยีเฉพาะรถยนต์เทสลา ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุรอบคันรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ขึ้นโชว์ว่ามี “วัตถุบางอย่าง” ลักษณะคล้ายคน ปรากฏอยู่ข้าง ๆ ตัวรถ ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่มีคนอยู่บริเวณนั้น และไม่มีการจัดฉากใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง “รถเทสลาตรวจจับวัตถุคล้ายคนได้ ทั้งที่ไม่ได้มีคนยืนอยู่ตรงนั้น” แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ มีรายงานข่าวและคลิปวิดีโอทำนองนี้ในต่างประเทศมาหลายครั้งแล้ว และหลายปีแล้วด้วยตั้งแต่ที่รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเทสลากลายเป็นที่นิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และก็มีคนเอาไปลองวิ่งตามสุสาน ตามสถานที่แปลก ๆ เผื่อจะตรวจจับ “วัตถุลึกลับคล้ายคน” กันได้
ตัวอย่างเช่น คลิปติ๊กต๊อกนี้ จากผู้ใช้ที่ชื่อว่า @iam3dgar ที่ได้ขับรถเทสลาไปอย่างช้าๆ ในสุสาน พร้อมกับเสียงเพลงน่าขนลุก แล้วเขาก็เห็นว่าบนจอแดชบอร์ดของรถ เริ่มแสดงรูปของคน และเตือนถึงสิ่งกีดขวางที่รูปร่างแบบมนุษย์โผล่ออกมาระหว่างหลุมศพ แต่พอเงยหน้าขึ้นมาดู กลับไม่พบว่ามีคนอยู่แถวนั้นเลย
ที่เป็นเช่นนี้ได้นั้น ถ้าตัดความเชื่อเรื่องที่ “มีผีวิญญาณเฝ้าสุสาน แล้วรถเทสลามีตาทิพย์มองเห็นได้” ออกไปแล้วนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่ารถคันนั้นมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับระบบ Tesla Vision ของรถ ซึ่งประกอบด้วยกล้อง 8 ตัวและเซนเซอร์อัลตราโซนิก 12 ตัว อาจจะมีอะไรเสียแล้วทำงานผิดพลาด หรือถ้าเซนเซอร์ปกติดี ก็อาจจะเกิดจากตัวของโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ประกอบนั้น เกิดความผิดพลาดในการตรวจจับขึ้นได้

และคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มาก ก็คือ ปัญหาผลบวกปลอม หรือ ฟอลส์โพสิทีพ (false positive) ซึ่งหมายถึงการที่รถตรวจเจอสิ่งกีดขวางอันตรายทั้งที่มันไม่ได้มีอยู่ รถอาจจะตรวจจับวัตถุอะไรแถวนั้นที่กล้องมองเห็น เช่น ดอกไม้ พุ่มไม้ ป้ายหลุมศพ ฯลฯ แล้วตีความว่าเป็นสิ่งกีดขวางอันตราย
ระบบป้องกันการชนของรถเทสลานั้น ทำงานด้วยการใช้ทั้งเซนเซอร์และกล้องร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอะไรอยู่รอบรถบ้าง ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังจอภาพในห้องโดยสาร ซึ่งจะแสดงเป็นภาพกราฟฟิกขึ้นมา แต่ไม่ใช้ภาพวิดีโอของสิ่งที่กล้องเห็นจริง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในการแสดงผล เช่น แสดงหลุมศพ ด้วยภาพกราฟฟิกของ “คนเดินถนน”
ในคู่มือผู้ใช้ของรถเทสลาเอง ก็มีการแนะนำไว้เกี่ยวกับระบบป้องกันการชนของรถว่า “มีหลายปัจจัยที่สามารถลดประสิทธิภาพของระบบหรือทำให้ระบบผิดพลาดได้ และนำไปสู่การเตือนการชน ทั้งแบบที่ไม่จำเป็น เตือนผิด หรือไม่แม่นยำ” (อ่านคู่มือรถเทสลา คลิ๊ก)

ซึ่งในแง่ของ “ความปลอดภัย” แล้ว การที่รถที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ (auto pilot) อย่าง เทสลา นั้น แสดงผลการตรวจจับผิดปรกติแบบ “ผลบวกปลอม” ย่อมดีกว่าการที่มันแสดงผลแบบ “ผลลบปลอม” (หมายถึง รถตรวจไม่เจอสิ่งกีดขวางอันตราย ทั้งที่มันมีอยู่จริง) ตัวอย่างเช่น มันย่อมจะดีกว่า ที่จะเตือนผิดว่ามีเด็กวิ่งลงมาที่ถนน (ทั้งที่ไม่มี) ดีกว่าที่จะตรวจไม่เจอว่าจริงๆ แล้วมีเด็กอยู่บนถนน
ดังนั้น อัลกอริทึ่ม (algorithm) ของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในรถ จึงมีแนวโน้มที่จะทำการตรวจจับแบบเซนซิทีฟให้มากไว้ก่อน ยอมที่จะตรวจผิดแบบเจอผลบวกปลอม ดีกว่าจะผิดแบบผลลบปลอม
แต่ๆๆ การที่รถมีผลบวกปลอม ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะมันจะเกิดปัญหาอันตรายตามมา กับรถที่สามารถ “เบรกเองได้” อย่างไม่คาดคิดและทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันได้ อย่างที่บริษัทเทสลาเองก็โดนฟ้องร้องต่อศาล ที่รัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากข้อหาที่ว่ารถมีความผิดปรกติ จนทำให้เกิดการเตือนการชนด้านหน้า “แบบผลบวกปลอม” ขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่อันตรายได้ และก็ทำให้เทสลาเคยเรียกรถบางคันคืนไปแก้ อันเนื่องจากมันเซนซิทีฟเกินไปจนเกิดปัญหา “เบรกเองจากผลบวกปลอม” ขึ้น

ถ้าผู้ใช้รถเทสลาท่านใด เจออาการผิดปกติแบบ “ตรวจเจอผี” เช่นนี้ ก็ควรที่จะเอารถเข้าศูนย์บริการเทสลา เพื่อตรวจสอบการทำงานของรถของท่านว่ามีอะไรผิดปรกติกับระบบเซนเซอร์ของรถหรือไม่ หรืออาจใช้วิธีการ รีบูต (reboot) ซอฟต์แวร์ระบบออโต้ไพล็อตของรถ เผื่อจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ (รถเทสลาบางรุ่น เช่น Model X และ Model S จะใช้วิธีกดปุ่ม scroll wheel ทั้งสองอันบนพวงมาลัยค้างไว้ เพื่อรีบูต ซึ่งจะทำให้จอทัชสกรีนของรถดับลง แล้วสตาร์ตใหม่ในไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น)
สรุปก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น การที่รถสมัยใหม่ที่มีระบบเซนเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางอันตราย อย่างเทสลาแจ้งเตือน “ผี” ได้ เป็นผลจากความผิดปรกติของระบบเซนเซอร์และซอฟต์แวร์ที่มีแนวโน้มจะเซนซิทีฟและให้ “ผลบวกปลอม” ได้ ทั้งที่ไม่มีคนอยู่บริเวณ แต่ก็ต้องระวังปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น การเบรคเองอัตโนมัติเนื่องจากตรวจจับผิดพลาด ครับ
- ตอบให้แล้ว อ.เจษฎ์ ชี้แจง จุดดำบนหมูสามชั้น เป็นอันตรายหรือไม่
- อ.เจษฎ์ เตือนกระแส ‘กินดิน’ เพื่อขับสารพิษ วิจัยชี้เสี่ยงเป็นโรคฉี่หนู