ครูสาวจีนรักปักใจ ถูกโจรหนุ่มหลอกโอนเงินกว่า 20 ล้าน ดับฝันรักวิวาห์ล่ม
ครูสาวชาวจีนคลั่งรักเกินต้าน โดนหนุ่มมิจฉาชีพนิรนามหลอกโอนเงินกว่า 20 ล้านบาท แม้ตำรวจจะช่วยเตือนถึง 12 ครั้งแต่ก็ยังรั้น ยืนยันว่าหนุ่มคนนี้คือรักแท้ของเธอ ก่อนตาสว่างในภายหลัง
เกาะกระแสดราม่าไวรัลเมืองจีน หลังจากที่เว็บไซต์ต่างประเทศ South China Morning Post รายงานข่าว ครูสาวจีนวัย 38 ปี ถูกมิจฉาชีพหลอกโกงเงินไปกว่า 4 ล้านหยวน (เกือบ 19.5 ล้านบาทไทย!) ด้วยการขอให้ลงทุนเหรียญบิทคอยน์ ด้านเจ้าตัวไม่เชื่อว่าตนถูกหลอก แถมยังยืนกรานว่าเขาจะแต่งงานด้วย สุดท้ายรู้ความจริง ว่าโดนหนุ่มหลอกให้รักด้วยการปลอมโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดีย
ย้อนกลับไปในช่วงพฤศจิกายน 2565 ครูสาวจากเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ได้รู้จักกับชายหนุ่มโปรไฟล์ดีในแพลตฟอร์โซเชียลมีเดีย อีกทั้งรูปถ่ายและวิดีโอก็แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่รูปหล่อ ฐานะร่ำรวย ใจดี และรักสัตว์ ทำให้เธอตกหลุมรักเข้าอย่างจัง โดยหารู้ไม่ว่าชายคนดังกล่าวคือนักต้มตุ๋นตัวพ่อ
หลังจากนั้น เธอได้ถูกโจรขอร้องให้ลงทุนบิตคอยน์ด้วยเงินก้อนโต อีกทั้งยังอ้างว่าการลงทุนครั้งนี้จะทำกำไรให้เธออย่างมหาศาล เธอไม่รอช้า จึงได้ทำการกู้เงินจากธนาคารโดยใช้ที่พักอาศัยของเธอเป็นหลักประกัน
จากนั้น ตำรวจเซี่ยงไฮ้ได้พบธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติของเธอ ทำให้ต้องมาตรวจสอบ และทราบว่าเธอกำลังถูกมิจฉาชีพหลอกเข้าให้แล้ว จึงพยายามเกลี่ยกล่อมเธอให้หยุดโอนเงิน แต่เธอก็ไม่ได้เชื่อฟังตำรวจเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังทำการโอนเงินให้มิจฉาชีพอยู่เรื่อย ๆ
ทำให้ตำรวจต้องเรียกเธอเข้ามาสอบปากคำเกี่ยวกับการโอนเงินของเธอ แต่ก็ปฏิเสธด้วยการโกหกแบบซ้ำ ๆ มีครั้งหนึ่งที่เธอได้ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้โอนเงินจำนวน 640,000 หยวน (ประมาณ 3.1 ล้านบาท) แม้ว่าธนาคารจะได้รายงานธุรกรรมนี้แก่ทางตำรวจแล้วก็ตาม และอีกครั้งหนึ่งก็แจ้งเหตุผลเท็จในการโอนเงิน ว่าเธอได้โอนเพื่อซื้อกระเป๋าหรูลดราคาจากชายคนดังกล่าว
ต่อมา วันที่ 9 มกราคม 2566 ในขณะที่สอบปากคำครั้งที่ 9 เธอได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “การกดดันของพวกคุณนั้นมันเลวร้ายกว่าการถูกหลอกลวงอีก” ตำรวจจึงตอบกลับไปว่า “คนส่วนใหญ่ที่เราคุยด้วย สุดท้ายมักจะกลับมาพวกเราและร้องไห้” หญิงสาวสวนกลับว่า “ฉันจะไม่ทำแน่นอน”
ภายหลัง มีหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกชายคนเดียวกันต้มตุ๋น ได้ส่งข้อความแชทหาเธอ และเตือนเธอเรื่องชายคนดังกล่าว ทำให้เธอเริ่มสงสัยเกี่ยวกับความผิดปกติในครั้งนี้ โดยเธอเป็นฝ่ายโทรหาตำรวจด้วยตนเอง และเข้าพบเจ้าหน้าที่เป็นครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 พร้อมทั้งน้ำตา เพราะยังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง พร้อมยังยืนกรานว่า “เขาจะแต่งงานกับฉัน”
ครูสาวจึงได้เปิดใจกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนพบชายคนนี้บนโลกออนไลน์ โดยโปรไฟล์ของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนหล่อและตรงสเปคตนทุกอย่าง และคิดว่าเขามีตัวตนจริง ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วคือการปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์ของจอมโจรหัวใสนั่นเอง
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เปิดเผยว่า เธอลงทุนทั้งเงินและลุ่มหลงในสเน่ห์จอมปลอมของโจรมากเกินไปจนไม่เชื่อคำของตำรวจว่าคนที่ตนหลงรักนั้นคือโจรในคราบหนุ่มหล่อในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ ทางการจีนได้ดำเนินการปราบปราบการฉ้อโกงบนโลกออนไลน์ในหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจจับและบล็อกเบอร์โทรหรือข้อความที่น่าสงสัย และผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ไปเมื่อปีที่แล้ว
ที่มา 1