อันตรายจาก ‘ระเบิดฟอสฟอรัสขาว’ อาวุธเคมีที่อิสราเอล ใช้ถล่มฉนวนกาซา
ชวนรู้จัก ระเบิดฟอสฟอรัสขาว อาวุธเคมีที่อิสราเอลใช้ถล่มฉนวนกาซา หลังเข้าสู่ภาวะสงครามกับฮามาส ผิดหลักกฎหมายสากลหรือไม่?
จากกรณีที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสองประกาศเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกันนับพันคน ล่าสุดได้มีการรายงานเพิ่มเติมว่า อิสราเอลได้โจมตีปาเลสไตน์ด้วยอาวุธเคมีที่เรียกว่า ระเบิดฟอสฟอรัสขาว (Phosphorus bomb)
จนนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวโจมตีประชาชนถือว่าผิดหลักสากลหรือไม่ อีกทั้งหลายฝ่ายยังกังวลถึงผลกระทบและอันตรายจากระเบิดฟอสฟอรัสขาว ที่อาจกระทบสุขภาพผู้คนในระยะยาวได้
ระเบิดฟอสฟอรัสขาวคืออะไร ส่งผลกระทบยังไงบ้าง?
ฟอสฟอรัสขาว เป็นสารพิษสีขาว-เหลืองใส แต่จะมีสีที่เข้มขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสง โดยมันมีลักษณะเป็นผลึกคล้ายขี้ผึ้ง และมีกลิ่นฉุนคล้ายหัวไม้ขีดไฟหรือกระเทียม
กองทัพทหารหลายแห่งเคยนำฟอสฟอรัสขาวมาใช้งานในรูปแบบกระสุน เพื่อใช้ก่อควันสีขาวรบกวนฝ่ายตรงข้าม โดยนอกจากจะมีสีและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ฟอสฟอรัสขาวยังสามารถติดไฟในอากาศหากสัมผัสกับออกซิเจนได้ด้วย
ทั้งนี้แม้ฟอสฟอรัสขาวจะดูเป็นสารเคมีที่อันตราย แต่ในองค์กรเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons, OPCW) กลับไม่ได้ระบุฟอสฟอรัสสีขาวไว้ในตารางอาวุธเคมีประเภทใดเลย แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า ฟอสฟอรัสสีขาวสามารถจุดไฟให้ลุกลามและเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว แถมยังเป็นไฟชนิดที่ดับได้ยากอีกด้วย
อันตรายจากระเบิดฟอสฟอรัสสีขาว
ฟอสฟอรัสสีขาวไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการผลิตด้วยหินฟอสเฟต ซึ่งทำให้มีการห้ามใช้ฟอสฟอรัสขาวในพื้นที่พลเรือนที่มีประชากรหนาแน่น เพราะจะถือเป็นอาวุธสงคราม แต่หากใช้ในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อประโยชน์ทางการทหาร จะสามารถใช้ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ฟอสฟอรัสขาวสามารถสร้างอันตรายให้กับผู้คนได้หลายอย่าง อาทิ
- ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เมื่อสูดดม กิน หรือสัมผัสทางผิวหนัง
- บาดเจ็บจากไฟไหม้-ไฟครอก
- ปนเปื้อนแหล่งน้ำ
- ปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตร
- เกาะติดเสื้อผ้าและร่างกาย จนอาจทำให้ไฟไหม้ได้
หากอ้างอิงจากเหตุการณ์ในอดีตจะพบว่า ระเบิดฟอสฟอรัสขาวเคยถูกใช้ในพื้นที่สงคราม จนทำให้ผู้คนเสียชีวิตมาแล้วหลายครั้ง เช่น สงครามซีเรีย สงครามอัฟกานิสถาน และฉนวนกาซา
ทำไมอิสราเอลถึงใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาว โจมตีฉนวนกาซา?
อ้างอิงจากการรายงานโดย Human Rights Watch ได้มีการระบุว่า อิสราเอลเคยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์แบบระเบิดฟอสฟอรัสขาวมาแล้ว ในการปฏิบัติการทางทหาร 22 วันในฉนวนกาซา หรือที่เรียกว่า ‘Operation Cast Lead’ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552
แต่ถึงอย่างนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ในครั้งนั้นผู้คนในฉนวนกาซาส่วนใหญ่ เสียชีวิตจากขีปนาวุธ ระเบิด ปืนใหญ่ กระสุนรถถัง และการยิงด้วยอาวุธขนาดเล็ก โดยไม่ได้มีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า ฟอสฟอรัสขาวได้สร้างผลกระทบอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับการใช้ฟอสฟอรัสขาวเป็นอาวุธในสงคราม เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวในระแวกที่มีประชากรหนาแน่น อาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของพลเรือนโลก
ทว่าล่าสุดได้มีการเปิดเผยภาพและคลิปวิดีโอ ซึ่งอ้างว่าถูกบันทึกระหว่างสงครามอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธฮามาส โดยกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้ระเบิดฟอสฟอรัสยิงเข้าใส่ฉนวนกาซ่าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์รายงานว่า อิสราเอลใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาว ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในระดับสากลกับชาวปาเลสไตน์#อิสราเอล #ปาเลสไตน์ #ฮามาส
pic.twitter.com/cCokSF6Bdu— Elämäni (@ElamaniTh) October 11, 2023
ประโยชน์ฟอสฟอรัสขาว
แม้ฟอสฟอรัสขาวจะกลายเป็นอาวุธสงครามที่น่าสะพรึ่งกลัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟอสฟอรัสขาวก็ยังคงมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น
- ส่วนประกอบในปุ๋ย
- สารทำความสะอาด
- ใช้ในยาฆ่าแมลง
- ส่วนประกอบของดอกไม้ไฟ
ทว่าในภายหลัง หลายภาคส่วนได้ออกมารณรงค์ให้ยุติการใช้ฟอสฟอรัสในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะเกรงว่าอาจเกิดอันตรายมากกว่าผลดีนั่นเอง.