ไทยเริ่มหนาว 15 ต.ค. 66 มวลอากาศเย็นคลุม เหนือ-อีสานบน เตรียมรับมืออากาศแปรปรวน
ประเทศไทยตอนบนเตรียมรับมือ มวลอากาศหนาวเข้าปกคลุม 15-19 ตุลาคม 2566 อากาศแปรปรวนสูง ระวังภัยจากปลายฝนต้นหนาว
วันนี้ 10 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชั่วโมง : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 10-19 ต.ค. 66 อัปเดท 2023100912 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) มีรายงานสภาพอากาศดังนี้
วันที่ 10-14 ตุลาคม 2566 ร่องมรสุมยังพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน เริ่มมีลมเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) พัดปกคลุม จากมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมา เป็นช่วงท้าย ๆ ของฝนที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ยังเฝ้าระวังฝนตกหนัก
วันที่ 15 -19 ตุลาคม 2566 มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน
ร่องมรสุม เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศกัมพูชา ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุม ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามฝนตกหนักบางพื้นที่
สำหรับสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกมี พายุโซนร้อนกำลังแรง “บอละเวน (BOLAVEN)” กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ แต่อยู่ห่างจากประเทศไทยมาก จึงไม่มีผลกระทบ
ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 14-17 ตุลาคม 2566 แต่ก่อตัวในช่วงที่มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลมเหนือ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) จะเริ่มพัดลงมาปกคลุม แต่ยังต้องติดตามเป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์ และสิ้นสุดหน้าหนาวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ข้อมูลจาก : Weatherradio