สทนช. ประกาศเตือน 13 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าหลาก
สทนช. สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ออกประกาศเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง วันที่ 12-18 ตุลาคม 2566 เตือนพื้นที่ 13 จังหวัด ภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ต.ค. 66 เวลา 7.00 น. โดยในประกาศฉบับที่ 3/2566 เรื่องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 12-18 ต.ค.2566 มีรายละเอียด ดังนี้
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ อ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เขื่อนน้ำพุง และเขื่อนหนองหาร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนขุนด่านปราการชล
อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีแนวโน้มปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80
เตือนพื้นที่พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ
สำรับพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ แม่น้ำยม บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย, อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก, อ.สามง่าม และ อ.โพทะเล จ.พิจิตร
แม่น้ำมูล บริเวณสถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +113.00 ถึง +113.50 ม. รทก. สูงกว่าตลิ่ง 1.00 – 1.50 ม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร อ.ดอนมดแดง อ.ตระการพืชผล และ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
แม่น้ำยัง บริเวณสถานี E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด คาดการณ์ว่าระดับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าตลิ่ง 1.00-1.50 ม. ในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.เสลภูมิ และ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด และลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 13 – 14 ต.ค. 66
ภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.เพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.หนองบัวลำภู และ จ.อุดรธานี, ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ยะลา ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำท่วม 16,566 ครัวเรือน
นอกจากนี้ มีรายงานผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 117 ตำบล 631 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,566 ครัวเรือน ดังนี้ ภาคเหนือ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และ จ.อุตรดิตถ์ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ส่วน จ.เพชรบูรณ์ ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู จ.มหาสารคามเลย และ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง, จ.กาฬสินธุ์ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
พื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบรวม 19 จังหวัด 429,082ไร่ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี จ.ปราจีนบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.จะเชิงเทรา จ.อ่างทอง และ จ.สุพรรณบุรี
ที่มา : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ