“สมชัย” ชี้ รัฐบาลควรฟังเสียง คนท้วงกู้มาแจก นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ชี้ รัฐบาลควรฟังเสียงคนท้วงกู้มาแจก เงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ อาจไม่เป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
เรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่สำหรับงบประมาณที่ใช้ในนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2566 รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการชาวไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ สมชัยเปิดเผยว่า ดิจิทัลวอลเล็ต งบ 5.6 แสนล้านบาท หากไม่กู้จะหาเงินได้จากที่ไหนใช้สำหรับนโยบาย ทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลสามารถทำได้จริงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 คือการทบทวน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2567
ล่าสุด สมชัยเปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ออกมาท้วงนโยบาย Digital Wallet เนื่องจากมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในระยะยาว โดยระบุว่า “คนท้วง เรื่องกู้มาแจก จิ้งจกทัก ยังต้องคิด นี่ผู้ว่าแบงค์ชาติ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ช่วยกันบอกว่า กู้แหลกแล้วแจกหายวับนั้น อาจไม่เป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
กู้น่ะกู้แน่ เพราะจะแจก 1 กุมภาพันธ์ 2567 พรบ. งบประมาณตอนนี้ยังเอ้อระเหยอยู่ในขั้นทบทวนจาก ครม. กว่าจะเข้าสภา กว่าจะประกาศใช้ได้ ก็เมษายน 2567 ดังนั้น ที่บอกจะใช้งบประมาณแผ่นดินโดยทบทวนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการจัดเก็บภาษีน่ะ พูดได้ แต่ทำไม่ได้
การกู้แบบเนียน ๆ คือใช้ มาตรการกึ่งการคลัง ให้รัฐวิสาหกิจออกตังค์ไปก่อนแล้ว รัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 4-5 คืนในอนาคต คนกำไรได้โบนัส คือ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ แต่งบประมาณแผ่นดินในอนาคต หมดโอกาสใช้เพื่อประโยชน์เรื่องอื่น ต้องมาชำระหนี้แทน จะ 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่รัฐบาลข้า ข้าไม่เกี่ยว
อย่างไรก็ต้องแจก เพราะพูดไปแล้ว คนมีความหวัง รอใช้เงินกัน ไม่แจกก็หน้าแตก และไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดทางการเมือง ยอมหน้าแตก อาจจะดีกว่าเกิดปัญหาในอนาคต
หลายคนรณรงค์แล้วว่าหากแจกจะไม่ขอรับ เพราะเป็นนโยบายที่เขารับไม่ได้ จุดยืนผมคือ ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล แต่แจกก็จะขอรับ ไปสะสมเป็นค่าทนายความ ที่คนในรัฐบาลตำแหน่งใหญ่ระดับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฟ้องเอาเงินผม 50 ล้านครับ”
รัฐบาลยืนยันที่จะแจกเงินดิจิทัลในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะรับฟังเสียงของนักวิชาการ เพื่อคาดการณ์ผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอีกยาว ๆ
อ้างอิง : Facebook สมชัย ศรีสุทธิยากร