ไลฟ์สไตล์

สรุปแล้ว กระดาษทิชชู่ทิ้งลงชักโครกได้หรือไม่ แนะใช้กระดาษทิชชู่ให้ถูกประเภท

ไขข้อข้องใจ ทิชชู่สามารถทิ้งลงชักโครกได้หรือไม่ พร้อมสำรวจประเภทของทิชชู่ ชนิดไหนทิ้งได้ ชนิดไหนทิ้งไม่ได้

เรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน สำหรับการทิ้งกระดาษทิชชู่ลงชักโครก โดยเฉพาะเวลาเข้าไปใช้ห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า บ้างก็นำทิ้งชักโครกและกดลงไปเลย บ้างก็ทิ้งลงในถังขยะภายในห้องน้ำ แม้แต่บางคนก็บอกว่าเคยไปเทื่ยวต่างประเทศก็สามารถนำกระดาษทิชชู่ทิ้งลงในชักโครกได้

วันนี้ทาง Thaiger จะพาทุกคนมาร่วมกันไขข้องใจนี้ไปพร้อม ๆ กัน ว่าสรุปแล้วกระดาษทิชชู่สามารถทิ้งลงในชักโครกได้หรือไม่ หากทิ้งได้ ทิชชู่ประเภทใดสามารถทิ้งลงชักโครกได้

กระดาษทิชชู่รอบที่รองนั่งชักโครก

สรุปแล้ว ทิชชู่สามารถทิ้งลงชักโครกได้หรือไม่?

จริง ๆ แล้วนั้น กระดาษทิชชู่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ แต่ควรทิ้งในปริมาณที่น้อยและต้องเป็นกระดาษทิชชู่ประเภทที่ทิ้งลงชักโครกได้เท่านั้น ซึ่งสาเหตุของปัญหาส้วมอุดตันหลัก ๆ นั้น มักเกิดจากการทิ้งกระดาษทิชชู่ผิดประเภท หรือ ทิ้งทิชชู่ในปริมาณมาก ๆ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จะพามาสำรวจว่ากระดาษทิชชู่มีกี่ประเภท จุดประสงค์ในการใช้ และสามารถนำไปทิ้งลงชักโครกได้หรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

กระดาษทิชชู่แบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้

กระดาษชำระ (Toilet Tissue หรือ Jumbo Roll Tissue)

1. กระดาษชำระ (Toilet Tissue หรือ Jumbo Roll Tissue)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะกระดาษชำระนั้นมีเนื้อเยื่อที่สั้น ละลายน้ำง่าย ใช้สำหรับชำระสิ่งสกปรกหลังเสร็จภารกิจในห้องน้ำ เราสามารถพบเห็นได้ตามห้องน้ำห้างสรรพสินค้า หรือในห้องน้ำของทุกบ้าน ในปัจจุบันกระดาษทิชชู่แบบม้วนกลมหลายรุ่น ถูกออกแบบให้สามารถละลายน้ำได้ สังเกตจากบรรจุภัณฑ์ หากเราไม่ทิ้งในปริมาณที่มากจนเกินไป ยังไงส้วมก็ไม่ตันอย่างแน่นอน

กระดาษเช็ดหน้า (Tissue Paper)

2. กระดาษเช็ดหน้า (Tissue Paper)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะถูกออกแบบด้วยเส้นใยขนาดยาว เรียงกันอย่างหนาแน่น มีความเหนียวนุ่มสูง ละลายน้ำยาก ใช้สำหรับเช็ดสัมผัสหน้าอย่างอ่อนโยน แต่ไม่เหมาะกับการนำมาเช็ดชำระสิ่งสกปรกหลังเสร็จภารกิจในห้องน้ำ หากทิ้งลงไปในชักโครกอาจเป็นสาเหตุการเกิดปัญหาส้วมตันได้ในภายหลัง

กระดาษเช็ดปาก (Table Paper Napkins)

3. กระดาษเช็ดปาก (Table Paper Napkins)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะถูกออกแบบมาให้มีความแน่น ไม่ยุ่ยง่าย จึงทำให้ละลายน้ำยาก ใช้สำหรับเช็ดซับปากขณะรับประทานอาหาร แม้ว่ากระดาษทิชชู่ประเภทนี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในบ้านเรา แต่หากเผลอนำไปทิ้งลงชักโครกก็อาจสร้างปัญหาอันน่าปวดหัวได้ในภายหลัง

กระดาษเช็ดมือ (Paper Hand Towel)

4. กระดาษเช็ดมือ (Paper Hand Towel)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะมีความสากสูง เนื้อเหนียว ไม่ขาดง่าย แถมดูดซับน้ำได้ดี มักพบตามห้องน้ำสาธารณะ โรงพยาบาล หรือห้างสรรพสินค้า ใช้สำหรับเช็ดมือหลังจากล้างมือเสร็จ หากนำไปทิ้งลงชักโครก จ้างให้ก็ไม่สามารถกดกระดาษทิชชู่ประเภทนี้ลงไปได้อย่างแน่นอน

กระดาษอเนกประสงค์ (Paper Towel)

5. กระดาษอเนกประสงค์ (Paper Towel)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะมีลักษณะม้วนใหญ่ยาว เนื้อหนาเป็นพิเศษ แถมละลายน้ำยากแบบสุด ๆ สามารถใช้ได้อเนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นการเช็ดทำความสะอาด ซับน้ำมันจากของทอดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นห้ามคว้ากระดาษทิชชู่ประเภทนี้มาทำความสะอาดหลังเสร็จกิจเด็ดขาด

กระดาษทิชชู่เปียก (Wet Wipes)

6. กระดาษทิชชู่เปียก (Wet Wipes)

กระดาษทิชชู่ประเภทนี้ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้ เพราะมักผลิตด้วยเส้นใยพลาสติก บ้างก็ผลิตด้วยเส้นใยธรรมชาติ กักเก็บน้ำได้ดี ไม่ละลายน้ำ สามารถใช้ได้หลากรูปแบบทั้งทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย เช็ดพื้นโต๊ะ จอมือถือ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมและเย็นสดชื่น หลาย ๆ คนมักพกกระดาษทิชชู่เปียกเพื่อนำไปชำระหลังเสร็จกิจในห้องน้ำ แต่เมื่อใช้แล้วควรทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย ห้ามทิ้งลงชักโครกโดยเด็ดขาด

สรุปแล้วกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วสามารถทิ้งลงชักโครกได้มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ กระดาษชำระ ที่มีไว้เพื่อจุดประสงค์ในการทำความสะอาดหลังเสร็จกิจในห้องน้ำ ส่วนกระดาษทิชชู่ประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้

ดังนั้นควรใช้กระดาษทิชชู่ให้ถูกวัตถุประสงค์ หากประเภทที่ใช้ไม่ใช่กระดาษชำระ ควรเก็บและนำไปทิ้งขยะให้เรียบร้อย เพื่อลดปัญหาส้วมอุดตันที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button