ผู้กองธัญอมร เล่าเปิดใจปฏิบัติการจับ “มือปืนเด็ก 14” เผยทำตามหลักยุทธวิธี
รอง สวป.สน.ปทุมวัน “ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ” เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมตัวเด็กเยาวชนอายุ 14 ปีผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างพารากอน แชร์ประสบการณ์วินาทีเผชิญหน้าคนร้าย ตามยุทธวิธีที่ได้ฝึกมาตามหลักสูตร Massive Shooter
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ รองสวป.สน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่เข้าควบคุมตัว เยาวชนชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน ได้โทรเข้ามาผ่านรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” เล่าประสบการณ์ฉากละเอียด เหตุการณ์จับกุมผู้ก่อเหตุดังกล่าว
พร้อมกับกล่าวว่าตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ตามยุทธวิธีที่ได้ฝึกมาตามหลักสูตร Massive Shooter ในการเตรียมรับมือสำหรับสถานการณ์กราดยิงหมู่ โดยเล่าว่า
เมื่อวานนี้ (3 ต.ค. 66) ตนเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ ร้อยเวรปราบปรามที่ สน.ปทุมวัน ได้รับคำสั่งให้เข้าระงับเหตุในพื้นที่ห้าง ระงับเหตุ ไม่ให้คนร้ายก่อเหตุเพิ่ม ตอนนั้นต้องมุ่งตรงไปที่เกิดเหตุทันที จึงขี่รถมอเตอร์ไซค์สายตรวจฝ่าฝนไปคนเดียว ไปสมทบกับผู้บังคับบัญชา และกำลังตำรวจที่อยู่ที่ห้างแล้ว โดยได้มีการแบ่งหน้าที่ กระจายกำลังกันออกค้นหาตามจุดต่างๆ โดยตนได้รับมอบหมายให้สกรีนพื้นที่ทางฝั่งใต้ (South Zone) ของห้าง
ต่อมาตนได้ยินเสียงปืนดังมาจากทิศทางหนึ่ง ประกอบกับได้รับข้อมูลว่า พบคนร้ายอยู่ใกล้กับร้านเฟอร์นิเจอร์ชั้น 3 จึงขึ้นไปพร้อม รปภ.ห้าง และตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ที่มาสมทบอีก 2 นาย
อย่างไรก็ตามการสกรีนพื้นที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะตนอยู่ในที่โล่ง คนร้ายอาจหลบซ่อนมุมไหนแล้วยิงออกมาได้ทุกเมื่อ แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ตาม ยุทธวิธีที่ได้ฝึกมาตามหลักสูตร Massive Shooter
กระทั่งพบร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านหนึ่ง มีรอยกระจกแตกเป็นรู แต่ประตูล็อก คาดว่าภายในต้องมีคนร้ายหรือคนเจ็บอยู่แน่นอน จึงแบ่งหน้าที่กับน้องตำรวจจากสำราญราษฎร์ บอกน้อง ๆ ตำรวจว่า ยังไงก็ต้องเข้าไปข้างใน เพราะอยู่ข้างนอกเราจะเป็นเป้านิ่ง หากคนร้ายยิงออกมา ต้องโดนใครสักคนแน่นอน จึงแบ่งกันว่าตนจะนำเข้าไปชาร์จตัว อีกคนคอยคุ้มกัน และอีกคนคอยสกรีนอาวุธคนร้าย
อย่างไรก็ตาม วินาทีที่เห็นผู้ก่อเหตุ เห็นเขายืนนิ่ง ตนจึงแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ แสดงแสนยานุภาพอาวุธ ยกปืนยาวประทับบ่า บอกให้เข้าใจเย็น ๆ แล้ววางอาวุธ ตอนแรก ผู้ก่อเหตุวัย 14 กำลังคุยโทรศัพท์กับศูนย์ 191 ที่เกลี้ยกล่อมให้เขาวางอาวุธ แต่เด็กตอบว่า “ผมวางอาวุธไม่ได้ มีคนถืออาวุธปืนรออยู่ข้างนอกเยอะมาก ผมต้องสู้ ถ้าสู้ไม่ได้ ผมก็จะฆ่าตัวตาย”
จากนั้น ร้อยตำรวจเอก ธัญอมร บอกต่อว่า ตนเองจึงได้ทำการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบว่าผู้ก่อเหตุกำลังวัดใจ จึงแสดงอาวุธให้เห็นว่าตำรวจมีอาวุธปืนยาว ซึ่งเป็นอาวุธที่เหนือกว่า เป็นจิตวิทยาให้ผู้ก่อเหตุรู้ว่าถึงสู้ไปก็สู้ไม่ได้
ส่วนที่ผู้ก่อเหตุยอมมอบตัวไม่ใช่เพราะกระสุนหมดแม็ก กระสุนยังเหลืออีก 2 แมกกาซีน ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นคนที่ถนัดเรื่องการใช้อาวุธปืน แต่คนเล่นปืนจะรู้ดีว่าปืนสั้นไม่สามารถสู้กับปืนยาวได้
ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุจึงสับสนว่าจะสู้หรือว่าจะทำยังไงต่อดี แต่ด้วยตำรวจใช้ยุทธวิธีในลักษณะกดดันด้วยแสนยานุภาพทางอาวุธที่เหนือกว่า และรุกเข้าไปแบบไม่ให้ตั้งตัว แต่ถ้ามองในมุมยุทธวิธีการที่เขายืนอยู่ด้านใน ก็เป็นการพร้อมสู้และทำอะไรได้อีกหลายอย่าง
เจ้าหน้าที่พยายามแจ้งขอให้วางอาวุธและหยุดการกระทำในครั้งนี้ ซึ่งตัวผู้ก่อเหตุไม่พูดอะไร แต่ว่าก็ยอมมอบตัว ขณะนั้นผู้ก่อเหตุมีท่าทีนิ่ง ไม่ตอบโต้อะไร แต่ดูมีสติดี จากนั้นผู้บังคับบัญชาจึงมาสอบปากคำต่อ
ก่อนที่ทางด้าน ร.ต.อ.ธัญอมร จะกล่าวขอบคุณและชื่นชมตำรวจ 2 นาย จาก สน.สำราญราษฎร์ที่ร่วมปฏิบัติการจนภารกิจสำเร็จ แม้จะมาจากคนละที่แต่เขาทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด หากไปเจอตำรวจที่ไม่ฟังกัน จะแย่งทำผลงาน แบบนี้ภารกิจคงล้มเหลว และอาจเกิดความสูญเสียได้นั่นเอง.