‘วราวุธ ศิลปอาชา’ ชี้คนไล่ ‘หมอพรทิพย์’ ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ
‘วราวุธ ศิลปอาชา’ ชี้คนขับไล่ ‘หมอพรทิพย์’ ออกจากร้านอาหารที่ไอซ์แลนด์ ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ แนะหากรักประชาธิปไตยควรเคารพความเห็นต่าง
หลังประเด็นร้อนกรณี “พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์” หรือ “หมอพรทิพย์” สมาชิกวุฒิสภาถูกหนุ่มไทยเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไอซ์แลนด์ขับไล่ออกจากร้าน เหตุไม่พอใจการทำงานของหมอพรทิพย์ในฐานะสว. จนรีบขับรถออกจากบ้านพร้อมไลฟ์สดมาด่ากราดและเชิญคุณหญิงหมอออกถึงที่
กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันหนักว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นักการเมืองชื่อดังจังหวัดสุพรรณบุรี “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์หมอพรทิพย์ถูกไล่ว่า ‘เห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ในสังคมมีความคิดเห็นแตกต่างมากมาย ควรเคารพและให้เกียรติกัน’
ส่วนตัวตนคิดว่าสังคมประชาธิปไตย คำว่า “ประชาธิปไตย” หัวใจคือการเคารพในความแตกต่างทางความคิด ซึ่งหากคุณคิดอย่างนึง ส่วนอีกคนคิดอย่างนึง ต่างคนต่างว่ากันไป นั่นคือประชาธิปไตย อย่างเช่น ฝ่ายค้านคิดอย่าง ฝ่ายรัฐบาลคิดอย่าง แต่ทว่าว่าถ้าหากว่าคุณคิดต่างกัน แล้วนำความคิดต่างนั้นไปบูลลี่ หรือ ไปแสดงจริยามารยาทอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลอื่น คุณก็ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ
เสริมต่อว่า ‘การจะปฏิบัติต่อคนอื่นหรือแม้แต่คนที่เป็นลูกค้า อย่างในกรณีนี้ที่เกิดขึ้นเป็นผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการก็ควรจะมีจิตใจที่มี Service Mind (หัวใจบริการ) กับลูกค้ามากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ควรศึกษาแนวทางประชาธิปไตยของประเทศนั้นแล้วใช้เป็นแนวทางในการทำงานจะดีกว่า เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาอย่างที่เห็นก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อใคร และไม่รู้ด้วยว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายใดตามมาด้วยหรือไม่’
อย่างไรก็ตามนายวราวุธมองว่าการกระทำโดยไม่ยั้งคิดเช่นนี้อาจทำไปด้วยความรู้สึกสะใจ พอมีคนเห็นด้วยก็ได้รับการชื่นชม แต่อย่าลืมว่าคนเห็นต่างก็มีอีกจำนวนมาก ผลเสียต่อมาอาจกระทบไปถึงการประกอบอาชีพ อยากให้ตระหนักว่าการเมืองเป็นเรื่องที่คิดต่างได้
การบูลลี่คนที่เห็นต่างจากเราไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์หรือในโลกแห่งความเป็นจริงควรจะต้องเคารพในความแตกต่างทางความคิด อย่าลืมว่าหัวใจหลักของ “ประชาธิปไตย” คือการเคารพซึ่งกันและกัน