สทนช. ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังน้ำหลาก-น้ำล้นตลิ่ง 3-7 ต.ค. 66
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566
สถานการณ์ฝนตกจนเกิดน้ำท่วมสูงและน้ำป่าไหลหลากยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ระบุว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และวิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ
สทนช. ระบุว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566 ได้แก่ พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม 6 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้
1. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอจอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง
ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา) จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ) จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอโกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) จังหวัดลำพูน (อำเภอลี้ และทุ่งหัวช้าง) จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น และลอง) และจังหวัดลำปาง (อำเภอเถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา)
2. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ อำเภอสามเงา และบ้านตาก จังหวัดตาก แม่น้ำยม ได้แก่ อำเภอสวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2566 ว่า กองทัพบก ดำเนินการจัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน และชุดสาธารณภัย จำนวน 1 คัน รถขุดตักแขนยาว จำนวน 1 คัน สนับสนุนการขุดลอกร่องชักน้ำดิบและจุดสูบน้ำดิบ ระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สะเรียง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านความขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำและติดตามประกาศจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติอย่างใกล้ชิด