กทม. ร่วมพิธีบวงสรวง-เตรียมบูรณะซ่อมแซม “พระแม่ธรณีบีบมวยผม”
กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ภาพบรรยากาศ พิธีบวงสรวงเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเตรียมบูรณปฏิสังขรณ์พระแม่ธรณีบีบมวยผม
วันที่ 27 กันยายน 2566 นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีบวงสรวงและพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเตรียมการบูรณปฏิสังขรณ์อุทกทาน (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมี พล.อ. โดมศักดิ์ คำใสแสง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนมงคลบูชา ณ บริเวณพิธีสถานที่ประดิษฐานอุทกทาน (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) ถนนราชดำเนินใน เขตพระนคร
กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดการปิดซ่อมแซมบูรณะอุทกทานแห่งนี้ เป็นระยะเวลา 120 วัน โดยจะดำเนินการเปลี่ยนองค์พระแม่ธรณีบีบมวยผมจากเดิมเนื้อสำริดรมดำเป็นเนื้อโลหะสำริดลงรักปิดทอง เปลี่ยนสไบพระแม่ธรณีบีบมวยผม รวมถึงการปรับปรุงซุ้มแก้วและฐานโดยรอบ
ทั้งนี้ อุทกทาน (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานน้ำดื่มให้แก่คนที่ผ่านไปมา ขณะที่กรุงเทพมหานครเริ่มมีน้ำประปา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสได้ถวายคำแนะนำให้สร้างเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมนั่งในซุ้มเรือนแก้ว โดยมีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม สามารถใช้ดื่มกินได้
โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงออกแบบรูปปั้นนางพระธรณี และพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบซุ้มเรือนแก้ว ดำเนินงานจัดสร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
“อุทกทาน” เปิดที่มา-ความหมาย การให้ทานด้วยน้ำอันสื่อถึงธรรมเนียมอันดีงาม
คำว่า “อุทกทาน” มีความหมายว่า การให้ทานด้วยน้ำ ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมแห่งนี้จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงธรรมเนียมอันดีงามของสังคมไทย และความห่วงใยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่มีต่อพสกนิกร ตามธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมไทยอดีตมักตั้งตุ่มน้ำไว้ที่หน้าบ้าน มีกระบวยสำหรับตักดื่มวางไว้
โดยเป็นที่รู้กันว่าใครผ่านไปมาสามารถตักดื่มได้ เพราะเจ้าของบ้านตั้งไว้เป็น “อุทกทาน” ปัจจุบัน อุทกทานหรือพระแม่ธรณีบีบมวยผมได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพบูชาจากประชาชน มีผู้นำทองคำเปลวไปปิด และนำดอกไม้ไปบูชาน้ำที่ไหลจากท่อลงมาถือว่าเป็นน้ำมนต์ สถานที่แห่งนี้จึงมีลักษณะเป็นเทวาลัยหรือสถานที่ประดิษฐานเทวรูปมากกว่าจะเป็นอนุสาวรีย์
ในการนี้มี นายยุทธพันธุ์ มีชัย อดีตที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เขตพระนครและผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี
- เปิดเลขเด็ด น้องฉัตร ทำพิธีถวายมงกุฎพระธิดา–พระแม่ธรณีบีบมวยผม
- กรุงเทพฯ กำหนด 71 จุดแจกสิ่งของ ป้องกัน COVID-19
- ผู้ชนะคำขวัญ 50 ประชาธิปัตย์ คืนโล่-เงินรางวัลถึงหน้าพรรค