อัตโนประวัติ ‘หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล’ เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม
อัตโนประวัติ ‘หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล’ เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม พระอาจารย์ผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ หนึ่งในพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
‘หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล’ (พระเทพวิสุทธิญาณ) เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม ผู้ละสังขารอย่างสงบเมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของเหล่าลูกศิษย์ลูกหาที่เลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน อีกทั้งเป็นพระอาจารย์ที่พุทธศาสนิกชนต่างให้ความเคารพนับถือ ด้วยกิตติศัพท์แห่งคุณงามความดีของท่านต่อวงการพระพุทธศาสนาตลอดการอุปสมบทของท่าน
อัตโนประวัติ หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม
พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล มีนามเดิมว่า ไพบูลย์ สิทธิ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2477 เป็นบุตรของนายกองแก้ว และ นางคำสิทธิ ผู้เป็นคหบดีชาวอำเภอเกาะคา ครั้นในสมัยวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ จังหวัดเชียงใหม่ จวบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นประกอบอาชีพหาเลี้ยงตน จนอายุครบ 29 ปี จึงได้อุปสมบทเข้าทางธรรม ณ วัดป่าสำราญนิวาส อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยมีพระครูธรรมาภิวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในช่วงอุปสมบท หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้รับการอบรมดูแลจากพระอาจารย์หลวง กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาสขณะนั้น ท่องธุดงค์ไปจำพรรษาในภาคอีสาน และกลับธุดงค์ขึ้นมาแถบป่าเขาในเขตจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย
เมื่อปีพ.ศ. 2513 หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโลได้มีโอกาสไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์สม ณ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และมีโอกาสได้พบกับพระอาจารย์ทองที่เดินทางมาจากวัดอโศการาม จากนั้จึงได้ชักชวนพระไพบูลย์ออกเดินธุดงค์หาความวิเวก
ระหว่างการออกธุดงค์คณะของหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโลท่านได้ผ่านมาถึงจังหวัดพะเยา และได้พักบำเพ็ญสมณธรรมและจำพรรษาอยู่ ณ วัดร้างแห่งหนึ่ง ชาวบ้านในบริเวณนั้นได้เข้ามาทำบุญฟังเทศน์อยู่หลายคราและเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อไพบูลย์ ชาบ้านทั้งหลายจึงได้พากันอาราธนาให้ท่านอยู่ ณ วัดร้างแห่งนั้นต่อไป
ภายหลังการตัดสินใจจำพรรษาอยู่ ณ วัดร้างแห่งนั้น หลวงพ่อไพบูลย์ได้ช่วยบูรณะวัดร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งยังช่วยปฏิสังขรณ์จากวัดร้างที่เสื่อมโทรมให้แปรเปลี่ยนเป็นงดงามขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการยื่นหนังสือไปยังกรมการศาสนา เพื่อขอการอนุญาตสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนา นามว่า “วัดรัตนวนาราม”
ช่วงเวลาต่อมา บรรดาชาวบ้านจากบ้านสันป่าม่วง บ้านสันบัวบก รวมถึงบ้านสันป่าบงได้เดินทางเข้ามาอาราธนาท่านไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยสูง ฝั่งกว๊านพะเยาด้านตะวันตก โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำแผ่นดินผืนนั้นสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไว้สำหรับเป็นพื้นที่บำเพ็ญกุศลของเหล่าชาวบ้าน
หลังจากการสร้างสำนักสงฆ์เพียงไม่นาน สถานที่แห่งนี้ก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นวัด ที่มีนามว่า “วัดอนาลโยทิพยาราม” อีกทั้งยังได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้สำนักสงฆ์แห่งนี้มีฐานะเป็นวัดโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
ต่อมาหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโลได้เป็นประธานจัดสร้างวัดพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (เฉลิมพระเกียรติ ครบ 200 ปี) ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวัดที่คณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุตได้อนุมัติให้สร้างขึ้นในปีมหามงคลวโรกาสคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 แห่งรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุต เพื่อเป็นการประกาศพระเกียรติ คุณของพระองค์ให้แผ่ไพศาลและสนองพระคุณูปการและเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
สมณศักดิ์ ‘หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล’ เส้นทางธรรมะกว่า 60 ปี
- พ.ศ. 2517 หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของพระเทพวราภรณ์ เลขานุการของสมเด็จพระสังฆราชวัดราชบพิธ
- พ.ศ. 2524 ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร แต่งตั้งให้เป็นพระฐานานุกรม พระครูปลัดสัมพิพัฑฒญาณาจารย์
- พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระปัญญาพิศาลเถร
- พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระราชสังวรญาณ
- พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระเทพวิสุทธิญาณ
‘หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล’ กับผลงาน อันเป็นที่ประจักษ์
ผลงานด้านการพัฒนา
- ‘พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล’ เป็นผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ที่ประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี
- ท่านได้ช่วยจัดหาทุนจ้างครูไปสอนเด็กในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนบ้านภูเงิน อีกทั้งยังได้มอบทุนแก่คณะครูที่ปฏิบัติดีเด่นประจำปี อุปถัมภ์ในการสร้างอุโบสถวัดป่าสำราญนิวาส และได้มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนยากจนเป็นประจำทุกปี ปี ละ 1,000 ทุน รวมเป็นมูลค่ากว่าล้านบาท
- ท่านได้จัดสร้างพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งได้ประดิษฐานประจำอยุ่ ณ ว่าการอำเภอทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย
ผลงานด้านการศึกษา
ท่านเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ท่านเชื่อว่าเป็นรากแก้วสำคัญของพระพุทธศาสนา อังทั้งภาษาบาลียังเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด การศึกษาพระบาลี ดุจเป็นการได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และได้สดับฟังพระสัทธรรมจากเบื้องพระพักตร์
พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล ได้มอบหมายให้ท่านพระครูปลัด พิศิษฐ์ (ครูบาอั๋น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ ดูแลและบริหารจัดการเกี่ยวกับการเปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ในพ.ศ.2545 จวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีนักเรียนผู้สอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี รวมประโยคต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 54 รูป
พระเทพวิสุทธิญาณ เป็นพระเถระที่มีปฏิปทาเป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ด้วยความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยกิตติศัพท์แห่งคุณงามความดีที่ท่านได้ฟื้นฟูสภาพจากสำนักสงฆ์วิปัสสนาให้กลับกลายเป็น “วัดอนาลโยทิพยาราม” พุทธศาสนสถาน อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป
แม้ว่าในปัจจุบันพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล หรือ หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ที่ประชาชนต่างเรียกด้วยความเคารพนับถือนั้น จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ แต่วัตรปฏิบัติของท่านก็ยังคงเรียบง่ายเฉกเช่นเดิม หมั่นอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม มุ่งเน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล เบญจธรรมอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาจึงให้ความเคารพเลื่อมใสในท่านมาอย่างยาวนาน
- ส่องเลขอายุ ‘หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล’ มรณภาพ ลุ้นโชคงวด 1 ต.ค.66
- ฝันเห็นพระสงฆ์ ทำนายฝัน ตีเลขเด็ดซื้อหวย