รู้จัก”ผบ.ตร.” มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง เปิดข้อกฎหมายผู้นำสูงสุด แห่งวงการตำรวจ
ทำความรู้จักตำแหน่ง ‘ผบ.ตร.’ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้มีอำนาจสั่งการและควบคุมทุกหน่วยงาน ระดับชั้นสูงสุดแห่งวงการตำรวจ
จับตาวาระการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจเป็นการ เลือกตั้ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผบ.ตร.” ผู้มีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่ควบคุมกำกับการปฏิบัติงานของตำรวจ ไปจนถึงรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด ถือเป็นความต้องการสูงสูดของบรรดาข้าราชการตำรวจ
ก่อนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2566 TheThaiger พาทุกคนไปรู้จักอำนาจหน้าที่ของเก้าอี้ผบ.ตร. ตัวนี้ว่ามีอะไรบ้าง
อำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร.
ตำแหน่งผบ.ตร. ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความสามารถมากพอเพื่อรับผิดชอบงานและพัฒนาวงการตำรวจไทยให้มีมาตรฐาน สร้างความน่าเชื่อถือในอาชีพตำรวจด้วยการทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต
ตำแหน่งหัวเรือใหญ่นี้มีอำนาจหน้าที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ อำนาจหน้าที่ทั่วไปและอำนาจหน้าที่เฉพาะ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2549 มีรายละเอียดดังนี้
อำนาจหน้าที่ทั่วไป
หน้าที่ส่วนนี้ครอบคลุมการบริหารราชการหลักของตำรวจทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นให้อยู่ในความสงบ เรียบร้อย และถูกต้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันตำรวจให้กับประชาชน มีความรับผิดชอบดังนี้
- เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล เร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งปวงของทุกหน่วย
- ควบคุมงานภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย
- เป็นผู้แทนพระองค์ในกิจการที่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อำนาจหน้าที่เฉพาะ
ผบ.ตร. เป็นตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจให้รับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด เป็นผู้แทนพระองค์ในการปฏิบัติงานต่าง ๆ รวมถึงปราบปรามความผิดทุกรูปแบบเพื่อความรักษาสงบเรียบร้อยของประเทศ มีความรับผิดชอบดังนี้
- รักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
- ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา
- รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศ
- ปฏิบัติการอื่นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผบ.ตร. ยังมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ อำนาจในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อำนาจในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปราชการต่างประเทศ
สรุปว่าผบ.ตร. มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและมีหน้าที่ในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล เร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งปวงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร
การแต่งตั้งผบ.ตร.โดยนายกรัฐมนตรี
การแต่งตั้ง ผบ.ตร. หรือข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) กระทำโดยให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม
จากนั้นนายกรัฐมนตรีเสนอต่อก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร. คำนึงถึงความอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
เพื่อดึงศักยภาพและกอบกู้ชื่อเสียงของวงการสีกากีไทย พวกเรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผบ.ตร. คนที่ 14 จะเป็นตำรวจน้ำดีที่เข้ามาช่วยขจัดความทุกข์ร้อนของประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนได้อีกครั้ง