ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “ตํารวจไซเบอร์” ผู้พิทักษ์โลกโซเชียล เตือนภัยคดีออนไลน์ ทุกรูปแบบ

ตํารวจไซเบอร์ คืออะไร มีหน้าที่สืบสวนคดีอย่างไรบ้าง เช็กช่องทางติดต่อและแจ้งความออนไลน์ หากต้องการแจ้งเบาะแสหรือขอความช่วยเหลือ

จากกรณี ตำรวจไซเบอร์ บุกค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังมีรายงานว่าพบเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ ทำให้คำว่า ตำรวจไซเบอร์ ปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้ง และถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์

Advertisements

ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่าตำรวจไซเบอร์มาบ้างแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่า ตำรวจไซเบอร์ไม่ได้มีหน้าที่ตามจับบุคคลที่โจรกรรมข้อมูล หรือจับมือดีที่แฮกระบบเท่านั้น

วันนี้ทีมงาน Thaiger ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จัก ตำรวจไซเบอร์คืออะไร อำนาจหน้าที่ของผู้ผดุงความยุติธรรมบนอินเทอร์เน็ต มีเพียงแค่จับคนร้ายที่โจรกรรมข้อมูลหรือไม่ พร้อมเช็กช่องทางติดต่อแจ้งความออนไลน์ หากเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย ที่เป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รู้จัก "ตํารวจไซเบอร์" ผู้พิทักษ์โลกโซเชียล เตือนภัยคดีออนไลน์ ทุกรูปแบบ

ตำรวจไซเบอร์ คืออะไร

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ (ชื่อภาษาอังกฤษ : Cyber Crime Investigation Bureau) คือ ตำรวจที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมที่กระทำผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เช่น การโจรกรรมข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การล่วงละเมิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ต การฉ้อโกงออนไลน์ เป็นต้น

กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์สาเหตุ รูปแบบ เครือข่ายการกระทำอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเป็นระบบ จากเดิมที่มีเพียง “กองบังคับการ” ที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กระจายอยู่หลายหน่วยงาน

Advertisements

สำนักงานตำรวจจึงจัดตั้งตำรวจไซเบอร์ เพื่อแก้ปัญหาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง

ตำรวจไซเบอร์ต้องมีความรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างดี เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

อำนาจหน้าที่ของ “ตำรวจไซเบอร์”

    • เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และการเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่
    • ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร
    • ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
    • ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ
    • สนับสนุนส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นในการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความรู้ ความสามารถ ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
    • ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี และดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยต่าง ๆ

รู้จัก "ตํารวจไซเบอร์" ผู้พิทักษ์โลกโซเชียล เตือนภัยคดีออนไลน์ ทุกรูปแบบ

คดีที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวน

    • คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป
    • คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
    • คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
    • คดีที่มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน
    • คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
    • คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
    • คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ

ตำรวจไซเบอร์รับผิดชอบสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานคดีที่ซับซ้อนเท่านั้น หากเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น คดีคนร้ายใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกระทำผิด ตำรวจไซเบอร์จะช่วยสืบค้นและสนับสนุนข้อมูลทางเทคโนโลยี และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสืบหาตัวคนร้ายเท่านั้น

วิธีติดต่อแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์

ท่านใดที่ต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือต้องการขอคำปรึกษา แจ้งเบาะแส และขอความช่วยเหลือเรื่องคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์

หากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วไม่มีความคืบหน้า ตำรวจไซเบอร์เปิดสายด่วน “1441” เพื่อให้บริการประชาชนแล้ว สามารถติดต่อได้ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท โดยกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์จะประสานพื้นที่เพื่อเร่งรัดอีกทางหนึ่งด้วย

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งอยู่ที่ 904 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 30 ชั้น ชั้น 5 เมืองทองธานี ถ.ป๊อบปูล่า ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 นอกเหนือจากสายด่วน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-504-4874 หรือโทรสาร 02-504-4875

สรุปแล้วตำรวจไซเบอร์คือ ตำรวจที่มีหน้าที่สืบสวน ปราบปรามคนร้ายที่ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ ทั้งโจรกรรมข้อมูล คดีฉ้อโกงในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเท็จที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง แม้จะรับผิดชอบเฉพาะคดีที่ซับซ้อน แต่ทุกท่านสามารถติดต่อสายด่วนเพื่อขอความช่วยเหลือได้ค่ะ

รู้จัก "ตํารวจไซเบอร์" ผู้พิทักษ์โลกโซเชียล เตือนภัยคดีออนไลน์ ทุกรูปแบบ

อ้างอิง : 1

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button