ข่าว

23 ก.ย. 66 ตรงกับ “วันศารทวิษุวัต” ช่วงกลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน

วันที่ 23 กันยายน 2566 ตรงกับ “วันศารทวิษุวัต” ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน เป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

ข่าวแวดวงดาราศาสตร์มีมาฝากกันอีกเช่นเคย และวันนี้ วันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 ตรงกับ วันศารทวิษุวัต ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า วันศารทวิษุวัต หรือ Autumnal Equinox เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน และนับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

23 ก.ย. 66 ตรงกับ "วันศารทวิษุวัต" ช่วงกลางวันนานเท่ากับกลางคืน
ภาพจาก Facebook : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน แปลรวมกันว่า กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน ตรงกับคำว่า วิษุวัต แปลว่า จุดราตรีเสมอภาค ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ ในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า Vernal Equinox หรือ วสันตวิษุวัต และในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า Autumnal Equinox หรือ ศารทวิษุวัต

แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาที่ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี วันศารทวิษุวัตในประเทศไทย ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.17 น. ตามเวลากรุงเทพมหานคร

NARIT ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลแต่ละพื้นที่มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก

นอกจากวันศารทวิษุวัตแล้ว ปรากฏการณ์ต่อไปในปีนี้ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ คือ วันเหมายัน (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด

วันเหมายันจึงเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า ตะวันอ้อมข้าว สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะมีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

วันวสันตวิษุวัต ปี 2566 ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาที่กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน เช่นเดียวกับวันศารทวิษุวัตในวันนี้ค่ะ

อ้างอิง : 1

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button