สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

ภาวะ “เลือดหนืด เลือดข้น” ภัยเงียบใกล้ตัว ถ้าไม่รีบแก้อาจถึงแก่ชีวิตได้

เปิดสาเหตุ “เลือดหนืด เลือดข้น” พร้อมวิธีการรักษา เพื่อป้องกันภัยเงียบที่อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

หลายคนอาจไม่ตระหนักว่าภาวะ เลือดหนืด เลือดข้น ปัญหาสุขภาพใกล้ตัวมากกว่าที่คิด หนึ่งในภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม วันนี้ Thaiger เลยถือโอกาสรวบรวมสาระน่ารู้ เกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการ พร้อมเจาะลึกสาเหตุที่ทำให้เลือดข้น เกี่ยวข้องกับการดื่มน้ำน้อยเกินไปจริงหรือไม่? งานนี้บอกเลยว่ามีวิธีการรักษา และที่สำคัญยิ่งรู้ตัวเร็วยิ่งปลอดภัยมากขึ้นแน่นอน!

เช็กอาการ ภาวะเลือดข้น-เลือดหนืด รักษายังไงบ้าง?

เลือดข้น มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า (Polycythemia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความเข้มข้นของเลือดสูง เนื่องจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินไป หรือปริมาณน้ำเลือด (พลาสมา) ลดลง จนกระทบต่อระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย

อาการเลือดข้น

อาการ เลือดข้น-เลือดหนืด

ผู้ที่มีภาวะเลือดหนืดข้น จะแสดงออกทางร่างกายที่แตกต่างกันไป ซึ่งหากใครสังเกตเห็นว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตาพร่าเบลอ มองเห็นผิดปกติระหว่างวัน
  • หน้า มือ เท้า แดงผิดปกติ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย แน่นหน้าอก
  • ความดันโลหิตสูง
  • เลือดกำเดาไหลง่ายและบ่อยขึ้น
  • ปวดบวมตามข้อ หรือมีอาการของโรคเกาต์
  • มีรอยฟกช้ำบนร่างกาย

เลือดข้น เกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เลือดข้น

ปัญหาเลือดข้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ ปัจจัยที่เกิดจากภายใน เนื่องจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป และปัจจัยภายนอกที่ได้รับการกระตุ้นจนพลาสมาลดลง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดื่มน้ำน้อยอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป (Absolute Polycythemia)

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2) มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากกลไกในร่างกายอย่างไขกระดูก ได้ทำการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มากเกินไป ทั้งยังมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดมากกว่าที่ร่างกายต้องการอีกด้วย
  • ร่างกายผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) มากเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในกลุ่มคนที่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรั้ง หรือผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ จนออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ

ปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง (Apparent Polycythemia)

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เลือดหนืดข้น เป็นเพราะปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง เนื่องจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้ป่วย อาทิ

  • สูบบุหรี่จัด
  • น้ำหนักเยอะเกินมาตรฐาน
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ใช้ยาขับปัสสาวะ
  • ร่างกายขาดน้ำ

วิธีรักษา เลือดข้น

วิธีการรักษา ภาวะเลือดข้น

หากใครที่พบว่าตัวเองมีอาการเลือดข้น อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะหากยิ่งรู้ตัวเร็วก็ยิ่งมีโอกาสรักษาจนอาการดีขึ้นได้ ซึ่งในปัจจบุันแพทย์มีวิธีการรักษาหลัก ๆ อยู่ 2 แนวทาง ดังนี้

ถ่ายเลือด (Phlebotomy)

การถ่ายเลือดโดยการใช้เข็มเจาะเส้นเลือดที่แขน แล้วหมุนเวียนเลือดออกจากร่างกาย จะช่วยลดเซลล์เม็ดลือดแดงที่ไขกระดูกผลิตออกมามากเกินความจำเป็นได้

วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อเนื่องทุก 6 – 12 สัปดาห์ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและรักษาระดับให้ความข้นของเลือดให้ลดลงราว 45%

แต่การรักษาภาวะเลือดข้นด้วยการถ่ายเลือด อาจทำให้เส้นเลือดที่แขนเสียหายจากการถูกเจาะเพื่อถ่ายเลือดซ้ำ ๆ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยมีความอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่ายในช่วงหลังการถ่ายเลือด

สาเหตุ เลือดข้น

รักษาด้วยการใช้ยา

อย่างที่ทราบว่าภาวะเลือดข้น อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงแทรกซ้อนหลายโรค ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วย รีบรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อชะลอไม่ให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป โดยยาที่มักใช้รักษาผู้ป่วยเลือดหนืดข้น มีดังนี้

  • ไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) : ชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ม้ามโต ในกลุ่มผู้ป่วยเลือดข้น
  • แอสไพริน (Aspirin) : ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และช่วยต้านเกร็ดเลือดได้
  • อินเตอร์เฟอรอนอัลฟ่า (Interferon-Alpha) : ชะลอการผลิตของเซลล์เม็ดเลือดแดง

นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะเลือดหนืด-เลือดข้น ยังสามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติม ด้วยการออกกำลังกายกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น ตลอดจนดื่มน้ำให้มากขึ้นได้เช่นกัน.

เลือดข้น ยา

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button