ข่าวข่าวการเมือง

ที่มา ‘นายกส้มหล่น’ คืออะไร ฉายาเด็ดการเมืองไทย ทำไมต้องเป็นส้ม?

เปิดที่มา นายกส้มหล่น คืออะไร ความหมายของคำว่า ส้มหล่น มีจุดกำเนิดจากไหน ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับการเมืองได้

ช่วงนี้กระแสคำศัพท์ฮิตอย่าง “นายกส้มหล่น” ดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในโลกโซเชียล สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ในการประชุมสภาเมื่อช่วงเวลา 10.10 น. นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ขึ้นอภิปรายถึงเรื่องแรงงาน พร้อมกล่าวพาดพิงถึง นายกเศรษฐา ทวีสิน ว่าเป็นนายกส้มหล่น ทำให้เกิดการโต้เถียงและการประท้วงในสภาอย่างดุเดือด

วันนี้เดอะไทยเกอร์ไม่รอช้า พาทุกคนมาดูความหมายที่แท้จริงของคำว่า ส้มหล่น มีที่มาอย่างไร เหตุใดช่วงนี้จึงถูกนำมาโยงเข้ากับการเมือง แล้วถ้าไม่เป็นส้ม จะสามารถแทนด้วยผลไม้ชนิดอื่นได้หรือไม่ คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

ส่องความหมาย ‘นายกส้มหล่น’ คืออะไร ส้มเกี่ยวอะไรกับการเมือง

ที่มา “ส้มหล่น” คืออะไร ทำไมต้องเป็นส้ม?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ส้มหล่น นั้นเป็นสำนวนที่มีมานานแล้ว แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกใช้เมื่อใด หรือมีที่มาอย่างไร แต่คนไทยก็คุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความหมายว่า ได้มาโดยไม่คาดคิด ส่วนมากเป็นความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือโชคที่ได้รับมาอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรง

การนำ ส้ม มาเป็นภาพแทนของความโชคดีหรือสิ่งที่ได้มาอย่างไม่คาดคิดในสำนวนนี้นั้น คาดว่ามาจากการที่ส้มเป็นผลไม้ที่สุกคาต้นแล้วจะเน่า หากอยากรับประทานต้องปีนไปเก็บเอง ดังนั้นการที่ส้มสุกพอดีกินหล่นลงมาโดยไม่ต้องเสียแรงปีนขึ้นไปเก็บ จึงเป็นภาพแทนความหมายของความโชคดีโดยบังเอิญ

นายกส้มหล่นคืออะไร

นายกกับส้มหล่น ผลไม้ที่ถูกโยงเข้าการเมือง

สำหรับคำว่านายกส้มหล่น เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงหลังการเลือกตั้งใหญ่พฤษภาคม 2566 ที่ทางพรรคก้าวไกลมีท่าทีว่าจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยรูปการณ์ของเรื่องนี้เป็นที่แน่ชัดว่าต้องส่งไม้ต่อให้กับทางพรรคอันดับสองอย่างเพื่อไทย

เมื่อเป็นเช่นนั้นจริง ทางพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะส่งผลให้นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 30 ลักษณะนี้ผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจึงมองว่าเป็นเหมือนการที่นายเศรษฐาไม่ได้ลงทุนลงแรงใด ๆ แต่กลับได้ตำแหน่งนายกฯ มาอย่างง่ายดายนั่นเอง จึงเข้าเค้ากับคำว่าส้มหล่นพอดี

นายกส้มหล่นคืออะไร

“พรรคส้ม” ความเชื่อมโยงกับ “ส้มหล่น”

อีกนัยหนึ่ง หลายคนต่างเรียกพรรคก้าวไกลในชื่อว่า “พรรคส้ม” เนื่องจากมีสีประจำพรรคเป็นสีส้ม โดยการที่นายเศรษฐาได้นั่งเก้าอี้นายกและถูกตั้งฉายาว่านายกส้มหล่น จึงเหมือนเป็นการจิกกัดกลาย ๆ ว่านายกเศรษฐาฉกฉวยโอกาสจากการที่พรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลได้ สถาปนาตัวเองและพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแทน

สรุปได้ว่า นายกส้มหล่นในบริบทนี้คือลักษณะการได้รับตำแหน่งนายกมาโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามจึงนำมาใช้โจมตีนายกเศรษฐาว่าได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากไม่คาดคิดมาก่อนว่าพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั่นเอง

แต่! ถ้าพูดกันในหลักการรัฐศาสตร์ เมือพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากรองลงมาก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดตั้งรวมเสียงรัฐบาล และนายเศรษฐาก็ได้รับเลือกจากรัฐสภาเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ถูกต้องตามครรลองต้นจบกระบวน

ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือส้มหล่นอย่างที่คนเรียก

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button