ประวัติ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ จากนายแพทย์และดาวเด่นสภาฯ สู่(อดีต)หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ส่องประวัติ ชลน่าน ศรีแก้ว นายแพทย์ผู้หันหน้าเข้าสู่วังวนการเมือง จากวันเป็นดาวเด่นประจำสภาฯ ปี 2552 สู่วันลาออกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ในที่สุดก็ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สำหรับนักการเมืองดังอย่าง “ชลน่าน ศรีแก้ว” หรือ “หมอชลน่าน” ที่วันนี้ 30 สิงหาคม 2566 ออกมาตั้งโต๊ะแถลงลาออกตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามรุ่นใหญ่อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ไปติด ๆ
สำหรับการเมืองในช่วงหลังเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มานี้ ดูเหมือนหมอชลน่านจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ที่คอยตั้งโต๊ะแถลงโต้ข่าวลือต่าง ๆ ที่สุดท้ายกลายเป็นข่าวจริงมาโดยตลอด
วันนี้เดอะไทยเกอร์ถือโอกาสสำคัญที่นายแพทย์ชลน่านลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พาทุกท่านย้อนกลับไปดูประวัติคุณหมอท่านนี้ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้หันหลังให้อาชีพแพทย์แล้วมากอดคอกับเพื่อนนักการเมืองแทน ไปติดตามอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย
เปิดประวัติ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ คุณหมอพ่วงตำแหน่ง สส. และว่าที่ รมว.สาธารณสุข
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า หมอชลน่าน มีชื่อเล่นจริง ๆ ว่า ไหล่ เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2504 พื้นเพเป็นคนจังหวัดน่าน มีพ่อชื่อนายใจ และแม่ชื่อนางหมาย
สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา 2529 (ร่วมรุ่นกับ นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์) และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี 2542
ด้านชีวิตครอบครัวของหมอชลน่าน พบรักกับแพทย์หญิงนวลสกุล บำรุงพงษ์ และมีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน โดยก่อนหันหน้าเข้าหาการเมือง ชลน่านประกอบอาชีพเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา จังหวัดน่าน อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ช่วงปี 2538-2543 อีกด้วย
นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน หมอชลน่านก็ได้รับเลือกให้เป็น สส. จังหวัดน่านอยู่หลายสมัย โดยในปี 2547 ชลน่านถูกแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
จากนั้นในปี 2548 ก็ถูกแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) รวมถึงการถูกแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทยอยู่ระยะหนึ่งด้วย
เมื่อปี 2552 ชลน่านเคยได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำสภาว่าเป็น “ดาวสภาฯ” อีกด้วย เนื่องจากลีลาการอภิปรายที่โดดเด่นจากการใช้ข้อบังการประชุมมาเป็นเครื่องมือแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ซึ่งเป็นการอภิปรายที่มุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทศิลป์
เมื่อปี 2555 นายแพทย์ชลน่านได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
กระทั่งในปี 2564 ชลน่านได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อจากสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ โดยในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวน สส. มากที่สุด ทำให้หมอชลน่านกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปโดยปริยาย
บทบาททางการเมืองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 นายแพทย์ชลน่านได้เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเขาเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และครั้งต่อมาเขาเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน โดยผลโหวตนายกในครั้งนี้ได้เศรษฐานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ
อย่างไรก็ดี สถานะของพรรคเพื่อไทยภายใต้การดูแลของนายแพทย์ชลน่านนั้น เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเปลี่ยนขั้วการเมืองไปจับมือกับพรรค 2 ลุง ทำให้ประชาชนต่างทวงถามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยดีลกับพรรคลุงป้อมปละลุงตู่ หมอลชลน่านก็พร้อมจะลาออก
และล่าสุดวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ชลน่านก็ได้ทำตามสัญญาโดยการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ยังติดอยู่ในโป ครม.เศรษฐา 1 โดยจะนั่งคุมกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนวิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง