ไขข้อสงสัย ข้าวต้มกับโจ๊กต่างกันอย่างไร ทั้งลักษณะของเม็ดข้าว ช่วงเวลาที่นิยมรับประทาน พร้อมเปิดสูตรเด็ด จะเมนูไหนก็อร่อยจนวางช้อนไม่ลง
เมนูอาหารเช้าที่ใคร ๆ ต่างนึกถึงนอกจากหมูปิ้ง นั่นก็คือ ข้าวต้มและโจ๊ก อาหารเช้าง่าย ๆ แต่เติมพลังเพื่อเริ่มต้นเช้าวันใหม่ได้แบบสุด ๆ อีกทั้งยังย่อยง่าย เป็นมื้อเบา ๆ ก่อนไปเรียน หรือไปทำงานก็ได้เช่นกัน แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทั้งโจ๊กและข้าวต้ม ต่างก็เป็นเมนูที่นำข้าวลงไปต้มกับน้ำสะอาด แต่ทั้งสองเมนูกลับมีชื่อที่ต่างกัน สรุปแล้ว ข้าวต้มกับโจ๊กต่างกันอย่างไร กันแน่
วันนี้ทีมงาน Thaiger ขอพาทุกท่านไขข้อสงสัย โจ๊กและข้าวต้มต่างกันอย่างไร พร้อมเปิดสูตรข้าวต้มรสเด็ด ที่มาพร้อมกับสูตรโจ๊กเจ้าเก่า ถ้าพร้อมแล้วเราไปไขความสงสัยในเมนูอาหารเช้าง่าย ๆ แต่อร่อยไม่ธรรมดากันค่ะ
ข้าวต้มกับโจ๊กต่างกันอย่างไร ทำแบบไหนถึงจะอร่อย
ความแตกต่างระหว่างข้าวต้มและโจ๊ก
อย่างที่ทราบกันว่า ข้าวต้มและโจ๊ก เป็นอาหารประเภทข้าวต้มเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่ข้าวต้มเป็นข้าวที่ต้มจนสุก แต่ลักษณะของเม็ดข้าวยังไม่เปื่อยยุ่ย ในขณะที่โจ๊กเป็นข้าวที่ต้มจนเละข้น เนื้อเนียนละเอียดกว่าข้าวต้ม อีกทั้งข้าวต้มมักเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น หมูสับ ไก่สับ กุ้งสับ ปลา เห็ดหอม เป็นต้น ในขณะที่โจ๊กมักใส่เครื่องเคียงน้อยกว่า เช่น หมูสับ กุ้งสับ ขิงซอย เป็นต้น โดยลักษณะ ปริมาณ และเครื่องเคียงของข้าวต้มกับโจ๊กแตกต่างกัน ดังนี้
-
- ลักษณะ : ข้าวต้มจะมีลักษณะเป็นเม็ดขาวสุก ส่วนโจ๊กจะมีลักษณะเม็ดข้าวที่เละข้นมากกว่า
- ปริมาณน้ำ : ปริมาณน้ำข้าวต้มจะเยอะ ส่วนโจ๊กจะมีปริมาณน้ำที่น้อยกว่า
- เครื่องเคียง : ข้าวต้มจะใส่เครื่องเคียงเยอะ ส่วนโจ๊กจะใส่เครื่องเคียงน้อย
อาจกล่าวได้ว่า โจ๊ก คือข้าวที่ต้มจนเม็ดข้าวบานสุกเปื่อยไม่เป็นตัว สลายตัวอยู่ในน้ำ จนน้ำข้นออกหนืดเล็กน้อย มักใส่เนื้อหมูสับ โรยหน้าด้วยใบหอมซอยและขิงอ่อนซอย
ในส่วนของ ข้าวต้ม คือข้าวที่ต้มจนเม็ดข้าวสุกบาน แต่เม็ดข้าวยังเป็นตัว มีน้ำข้าวมาก ส่วนใหญ่เรียกว่า ข้าวต้มกุ๊ย หรือข้าวต้มเปล่า ซึ่งต้องมีเครื่องเคียงในการรับประทาน ไชโป้วผัดไข่ หมูสับผัดหนำเลี๊ยบ
ส่วนข้าวต้มอีกประเภทหนึ่งที่มักหุงให้เม็ดข้าวสุก แล้วรีบเอาแช่ลงในน้ำเย็นเพื่อไม่ให้เม็ดข้าวบาน เวลารับประทานให้ปรุงด้วยเครื่องปรุงและเนื้อสัตว์ กลายเป็นข้าวต้มเครื่อง เช่น ข้าวต้มปลา ข้าวต้มเป็ด ข้าวต้มบะเต็ง เป็นต้น
วีธีทำข้าวต้มและโจ๊ก สูตรเจ้าเก่า รสชาติไม่เอาต์แน่นอน
นอกจากความแตกต่างของลักษณะเม็ดข้าวในแต่ละเมนูแล้ว โจ๊กและข้าวต้มยังเป็นเมนูที่คนนิยมรับประทานกันในช่วงเวลาอื่น ๆ นอกจากรับประทานเพื่อเติมพลังในยามเช้า โดยข้าวต้มเป็นอาหารที่นิยมกินเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่าง ส่วนโจ๊กเป็นอาหารที่นิยมกินเป็นอาหารเช้าหรืออาหารยามดึก พูดถึงแล้วก็หิว เรามาดูวิธีทำโจ๊กและข้าวต้มกันดีกว่าว่ามีสูตรเด็ดอะไรที่จะเอาไปทำเป็นมื้อต่อไปได้บ้าง
วิธีทำข้าวต้มหมูสับแบบง่าย ๆ
1. วัตถุดิบในการทำข้าวต้ม
-
- ข้าวสวย 1 ถ้วย
- หมูสับ 2 ขีด
- น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- ตั้งฉ่าย
- ผักชี
- ขิงอ่อน
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- ซุปก้อนสำเร็จรูป 1/2 ก้อน
- พริกไทยป่น
2. วิธีการทำข้าวต้ม
-
- หมักหมูสับด้วยพริกไทย และซีอิ๊วขาว
- ต้มน้ำให้ร้อน ใส่ซุปก้อนลงไป พอซุปเดือด ปั้นหมูสับเป็นก้อนกลม ๆ ใส่ลงไป
- เมื่อหมูสับสุกดีแล้ว ใส่ข้าวสวยลงไปต้ม ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว และใส่ขิงอ่อน
- เมื่อได้ที่ ตักใส่ชาม โรยตั้งฉ่ายและผักชี พร้อมรับประทาน
วิธีทําโจ๊ก จากข้าวสารและข้าวสวย
1. วัตถุดิบในการทำโจ๊ก
-
- ข้าวสารหอมมะลิ 180 กรัม
- ข้าวสารข้าวเหนียว 100 กรัม
- น้ำเปล่า 2000 มิลลิลิตร หรือปรับได้ตามความชอบ
- รากผักชี 2-3 ราก
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนตวง
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนตวง
- ซุปก้อนรสหมู 1 ก้อน
- หมูเด้ง ตามชอบ
- ขิงซอย
- ต้นหอมซอย
- พริกไทยป่น
- กระเทียมเจียว
- ซอสแม๊กกี้
2. วิธีการทำโจ๊ก
-
- นำข้าวสารทั้งสองชนิดบดรวมกันให้ละเอียด
- ตั้งน้ำ เปิดไฟ ใส่ซุปก้อน รากผักชี น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว เกลือป่น รอให้น้ำเดือด
- เมื่อน้ำเดือดแล้ว ตักหมูเด้งแบ่งใส่ลงไปเป็นชิ้นพอดีคำ ต้มให้สุกจากนั้นตักขึ้นมาพักไว้ พร้อมรากผักชี
- จากนั้นปรับเป็นไฟอ่อน ค่อย ๆ เทข้าวที่บดแล้วลงไป คอยคนข้าวขณะต้มไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งข้าวเหนียวข้นดี
- ตักใส่ชาม เสิร์ฟพร้อมกับหมูเด้ง ขิงซอย ต้นหอม กระเทียมเจียว หรือพริกไทยป่นตามชอบ หรืออาจรับประทานคู่กับไข่ลวก
- ในส่วนของ วิธีทำโจ๊กจากข้าวสวย ให้นำข้าวสวยต้มในน้ำร้อน จากนั้นต้มและเคี่ยวข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าเม็ดข้าวจะแตกตัว และน้ำข้นหนืดขึ้น โดยวิธีนี้จะง่ายกว่าการวิธีทำโจ๊กด้วยข้าวสาร
และนี่ก็เป็นความแตกต่างระหว่างข้าวต้มกับโจ๊ก อาจกล่าวได้ว่า วิธีการทำของทั้งสองเมนูคล้ายคลึงกัน แต่โจ๊กจะมีลักษณะของเม็ดข้าวที่เละข้นกว่า อีกทั้งยังใช้เวลาการทำนานกว่า นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องเคียง ข้าวต้มจะมีความจัดเต็มมากกว่าเห็น ๆ ในขณะที่โจ๊กมักนิยมรับประทานคู่กับซอสปรุงรสและขิงซอยเท่านั้นค่ะ แต่ไม่ว่าจะข้าวต้มหรือโจ๊กต่างก็เป็นอาหารที่คู่บุญเราชาวไทยมาอย่างยาวนานจริง ๆ แถมยังอร่อยทั้งคู่อีกด้วยค่ะ