ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

“ชัยธวัช” อภิปรายกก. ไม่โหวตเศรษฐา เพราะรัฐบาลข้ามขั้ว-ไม่เกี่ยวคุณสมบัติ : โหวตนายกรอบ 3

ชัยธวัช อภิปรายกลางสภาระบุสาเหตุ พรรคก้าวไกล ไม่โหวตเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่”ขัดเจตจำนงประชาชน

ในการประชุมรัฐสภา วันนี้ (22 ส.ค.66) ประเด็นวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา โดยการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงสาเหตุที่ทางพรรคกก. ทำไมถึงโหวต “ไม่เห็นชอบ”

Advertisements

สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุ ในการโหวตให้แก่ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลไม่สามารถที่จะโหวตเห็นชอบให้ได้ โดยเหตุผลไม่ใช่เรื่องที่เราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลตามที่สมาชิกบางท่านได้อภิปรายและซักถาม เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง และเราก็หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ควรจะให้ความสำคัญกับข่าวสารบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และก็คิดว่าท่านน่าจะได้ใช้สิทธิ์และวิจารณญาณนั้นไปแล้วพร้อมกับประชาชนทุกคน

  • เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบนายกรัฐมนตรีได้ในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่ออย่างที่มีการกล่าวหากันผ่านสื่อมวลชนหรืออย่างที่มีผู้นำส่งเอกสารให้กับสมาชิกรัฐสภาทุกคนในวันนี้
  • เหตุที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้ได้นั้น เป็นเพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เป็นการจัดจั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกอย่างไปแล้วอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารของ คสช.
  • พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่ใช่การสลายขั้วเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อ แต่มันคือการต่อลมหายใจ ให้แก่ระบบการเมืองที่ระบอบ คสช. วางไว้ต้องการดำเนินสืบไป

ต๋อม ชัยธวัช

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของราคาและต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย แม้หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ “เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง

แต่นายชัยธวัชอยากจะชวนคิดใหม่ว่า แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง ?

1.ประการแรก ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ คือ “ความหวัง”

Advertisements
  • การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบอบการเมืองที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้โดยสันติในที่สุด พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

2. ประการที่สอง ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ คือ “อำนาจ”

  • พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆ ว่าอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาออกไปใช้อำนาจของตัวเองแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่อนุญาตให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย “อันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ” ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

3. ประการที่สาม ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ “ความศรัทธา”

  • การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ กำลังทำให้เราสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ นั่นคือความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แล้วเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบการเมืองหรือสถาบันการเมืองใดๆ แล้ว นั่นจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของเราในอนาคต]
  • จึงอยากจะฝากความหวังดีผ่านไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่า หัวใจสำคัญของปัญหาการเมืองไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ การปะทะ/ขัดแย้งระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
  • จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกจากการเมืองแบบนี้ไม่ได้ และเราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเพินด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแบบผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหาคือ ระบบการเมืองที่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่ โดยวางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน” ดังนั้น ถ้าเรายังสยบยอมหรือต่อหายใจให้กับระบบการเมืองที่ตอบไม่ได้ว่าอำนาจของประชาชนอยู่ตรงไหน ถ้าเรายังสยบยอมหรือสืบทอดระบอบเรียกว่าประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมเคารพอำนาจของประชาชนต่อไป ประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาและหันหลังให้กับระบบการเมืองของเรา และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ในอนาคต

ชัยธวัช ตุลาธน อภิปราย

ก่อนที่ช่วงท้าย นายชัยธวัช ในฐานะเลขาธิการพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามระบอบรัฐสภาไทย ก็ไได้ฝากถึงประชาชนที่ยังคงรู้สึกคับข้องใจว่า สุดท้าย เลขาธิการพรรคก้าวไกลฝากสื่อสารผ่านไปยังประชาชนนอกสภาแห่งนี้ว่า ตนทราบดีว่าพี่น้องประชาชนจำนวนนับล้านกำลังผิดหวัง กำลังโกรธ หรือกำลังคับข้องใจกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น

“แต่ผมอยากจะบอกพี่น้องประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังเปลี่ยนไม่มากพอ ดังนั้น แม้ท่านจะไม่พอใจ ผิดหวัง คับข้องใจ แต่ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งหันหลังให้การเมือง แต่เราต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงคนละไม้คนละมือ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทำให้อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ” ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายที่การประชุมรัฐสภาวันนี้ (22 ส.ค.2566).

ขอบคุณคลิป วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา @TPchannel.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button