กางกฎหมายอาญา ‘มาตรา 22’ คลี่ประมวล นับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
เปิดประมวลกฎหมายอาญาที่น่าสนใจ ‘มาตรา 22’ บทบัญญัติทั่วไป ที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป เพื่อใช้ในการพิจารณาโทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย โทษจำคุกกี่ปี
จากกรณีของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย เดินทางกลับประเทศไทยในรอบ 15 ปี ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 08.58 น. ท่ามกลางหมู่มวลชนและกลุ่มนักการเมืองที่ไปต้อนรับด้วยความปิติ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวนายทักษิณ เพื่อเดินทางไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สนามหลวง โดยจะนำตัวเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ซึ่งห้องดังกล่าว จะอนุญาตให้เพียงฝ่ายโจทก์และญาติของจำเลยเพียงเท่านั้น เพราะในวันดังกล่าวศาลฎีกาฯ ยังนัดอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกเป็นจำเลย
Thaiger จึงถือโอกาสพาทุกท่านมาสอดส่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 เพื่อเช็กดูว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เหลือโทษจำคุกอีกกี่ปี และทางศาลมีเกณฑ์ใดบ้างในการพิจารณาการนับโทษในครั้งนี้ พร้อมไขข้อสงสัยด้วยว่าโทษต่อเนื่อง คืออะไร มีความเกี่ยวข้องอะไรกับโทษในมาตรา 22 บ้าง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาสอดส่องกฎหมายอาญามาตรา 22 ไปพร้อมกันได้เลย ณ บัดนี้
กางประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 โทษจำคุกกี่ปี
สรุปชัด มาตรา 22 ที่ทุกคนสงสัยนั้น ถูกบรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ 1 บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป หมวด 3 โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
“มาตรา 22 โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษา เมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา 91”
ทั้งนี้ กรณีที่จำเลยต้องจำคุกตลอดชีวิต ศาลไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีก่อนให้ การขอให้นับโทษต่อจากคดีเรื่องอื่น โจทก์ต้องแถลงให้ชัดเจนว่าคดีเดินศาลตัดสินลงโทษแล้ว ประกอบด้วยหลักฐาน กรณีไม่ใช่ข้อที่ศาลรู้เรื่อง
การนับโทษต่อจากคดีก่อน คือการใช้มาตรา 22 ที่ว่าด้วย “เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น” ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะสั่งให้โทษจำคุกในคดีหนึ่ง ๆ เริ่มนับแต่วันใดได้
การนับโทษตามมาตรา 22 พิจารณาจากอะไร
สำหรับการออกกำหนดเวลาจำคุกนั้น จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า “โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น” สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. โดยปกติแล้ว การนับระยะเวลาโทษจำคุกนับตั้งแต่วันที่เริ่มจำคุกตามคำพิพากษาเป็นต้นไป
2. เนื่องจากในคดีอาญานั้น ระหว่างที่เจ้าพนักงานดำเนินการสอบสวนก่อนมีการฟ้องร้องต่อศาลก็ดี หรือเมื่อมีการฟ้องต่อศาลแล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะถูกคุมขังไว้ถ้าไม่มีประกัน ฉะนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่าสำหรับผู้ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาดังกล่าวแล้ว ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา
3. ศาลอาจจะสั่งไว้ในคำพิพากษาว่าให้นับระยะเวลาจำคุกตั้งแต่วันที่เริ่มจำคุกตามคำพิพากษาเป็นต้นไปก็ได้ หากศาลสั่งไว้เ่นนี้ ไม่จำเป็นต้องหักวันที่ถูกคุมขังก่อนที่ศาลจะพิพากษาออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ซึ่งในกรณีนี้ศาลจะต้องกล่าวไว้คำพิพากษาโดยชัดแจ้งว่าให้นับแต่วันใด แต่ถ้าไม่ได้สั่งไว้ก็ต้องหักออก
การนับโทษต่อเนื่อง คืออะไร
การนับโทษต่อเนื่อง หมายถึง ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี หากศาลพิพากษาให้จำเลยต้องจำคุก การนับโทษจำคุก จะต้องนับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 22 วรรคหนึ่ง
โดยปกติแล้วการนับโทษต่อเนื่องต่อจากคดีก่อน ต้องปรากฏว่าศาลได้พิพากษาลงโทษในคดีเรื่องก่อนแล้วก่อนที่จะพิพากษาคดีเรื่องหลัง และการขอให้นับโทษต่อนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลได้พิพากาาลงโทษจำเลยหรือไม่ประการใด เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องรู้เอง
ฉะนั้น หากโจทก์ไม่มีคำขอให้ศาลนับโทษของจำเลยต่อจากคดีอื่น ศาลก็ไม่อาจนับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นได้ ทั้งนี้เพราะศาลไม่อาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก แต่ในกรณีที่มีคำขอขึ้นมานั้นการให้นับโทษจำเลยต่อหรือไม่ถือเป็นดุลพินิจของศาล