ข่าวข่าวการเมือง

ประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ผู้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย

ชวนอ่านประวัติ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต่อสู้เพื่อกลุ่มเสื้อแดงเสมอมา

เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจให้แก่พี่น้องชาวไทยอยู่ไม่น้อย หลัง ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ กรรมกรข่าว ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าถึงเวลาที่ต้องบอกกับผู้คนว่าต้องยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทยแล้ว ขายข้าวแกง จะใช้คำว่าลาออกก็ไม่ได้อยู่ในโครงสร้าง จึงใช้คำว่ายุติบทบาท

Advertisements

ซึ่งเรื่องนี้ได้บอกผู้ใหญ่ของพรรค ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. เมื่อสถานการณ์อาจจะมีแนวโน้มว่ามีการจับมือกันของพรรคการเมืองบางพรรคที่จะมาจัดตั้งรัฐบาล ก็คือพรรคเพื่อไทย ไม่ได้โกรธเคือง หรือไม่มีอะไรขัดข้องหมองใจกัน แต่ได้บอกผู้ใหญ่ไปตั้งแต่วันนั้นว่า ถ้าถึงจุดนั้นตนก็อยู่ในพรรคไม่ได้

วันนี้ ทีมงาน Thaiger จึงขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวกับมรสุมการเมืองไทยมาแล้วนักต่อนัก ที่ต้องบอกเลยว่าดีกรีของคุณณัฐวุฒินั้นไม่ธรรมดา สมกับเป็นนักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องสิทธิให้แก่ประชาชน ฉะนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเชิญทุกท่านมาอ่านประวัติของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กันได้เลย

ประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ เต้น เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนสุดท้องของสำเนา และปรียา ใสยเกื้อ มีพี่ชายชื่อเจตนันท์ ใสยเกื้อ สมรสกับ สิริกุล ใสสะอาด มีบุตรชายหนึ่งคน คือ นปก และบุตรสาวอีกหนึ่งคน คือ ชาดอาภรณ์

ณัฐวุฒิ จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ระดับมัธยม ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2536 จบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต จากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชนสำหรับผู้บริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2548

ทำความรู้จัก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ผลงานในวงการโทรทัศน์

ณัฐวุฒิ เริ่มมีชื่อเสียงในวงการนักพูด ด้วยการเป็นนักโต้วาทีผู้แทนโรงเรียน จนเป็นแชมป์รายการโต้คารมมัธยมศึกษา ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยในรอบรองชนะเลิศ พบกับทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ และ สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์ เข้าร่วมแข่งขันด้วย

Advertisements

จากการแข่งขันโต้วาที ทำให้ณัฐวุฒิ ได้เริ่มต้นอาชีพนักพูด โดยเป็นนักอบรมการพูด กับบริษัท อดัมกรุ๊ป จำกัด ของอภิชาติ ดำดี จากนั้นก็ร่วมโต้วาทีในรายการทีวีวาที ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นบางโอกาส และต่อมาได้เป็นดารา ประจำรายการสภาโจ๊กและรัฐบาลหุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยเป็นเงาเสียงของไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ณัฐวุฒิ ร่วมงานกับ วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ก่อแก้ว พิกุลทอง และ อุสมาน ลูกหยี ก่อตั้งบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด เพื่อดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี โดยเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีฯ นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ “เพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวี เพื่อประชาชน” ร่วมกับวีระ จตุพร และจักรภพอีกด้วย

ต่อมาในปี 2551 ณัฐวุฒิ ได้เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ ความจริงวันนี้ ผลิตโดย บจก. เพื่อนพ้องน้องพี่ และออกอากาศทางสดทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ร่วมกับวีระ และจตุพร แต่เมื่อรัฐบาลสมชาย มอบหมายให้ณัฐวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ก่อแก้ว พิกุลทอง จึงเข้ามาเป็นผู้ดำเนินรายการแทน

แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณัฐวุฒิ จึงกลับมาดำเนินรายการอีกครั้ง ก่อนจะต้องยุติการดำเนินรายการทางเอ็นบีที เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 รายการนี้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง ทางสถานีประชาธิปไตย (19 มกราคม – 25 มีนาคม) และสถานีประชาชน (15 กรกฎาคม – 12 มีนาคม พ.ศ. 2553)

โดยหลังจากช่วงประกันตัวจากข้อหาก่อการร้ายขากการชุมนุม ณัฐวุฒิ ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินรายการ ฝ่าวงล้อม ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชียอัปเดต จนกระทั่งมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ณัฐวุฒิ จึงยุติรายการนี้ เพื่อไปลงสมัครเลือกตั้งเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลังจากการรัฐประหาร ปี 2557 ณัฐวุฒิ ได้เข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ เข้าใจตรงกันนะ ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน จนกระทั่งยุติรายการลงในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ตามนโยบายลดรายการวิจารณ์ทางการเมืองของสถานีฯ เพื่อให้สอดรับกับการเลือกตั้งในปี 2562

อ่านประวัติ เต้น ณัฐวุฒิ
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

บทบาททางการเมือง

ณัฐวุฒิ เริ่มเข้าสู่วงการการเมือง โดยเข้าสังกัดพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 จากการชักชวนของธีรศักดิ์ นาคแก้ว ผู้เป็นน้าชาย แต่ในครั้งนี้เขาได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสอง โดยพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์เพียง 4,000 เสียง

ต่อมา ณัฐวุฒิ ได้เข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร เพื่อลงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และได้รับเลือกเป็น สส. แต่เกิดการรัฐประการ 19 กันยายน เกิดขึ้น

จนกระทั่งวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ณัฐวุฒิ ร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ เดินทางมาพบกันยังที่ทำการพรรคไทยรักไทย เพื่อแถลงข่าวต่อต้านการรัฐประหาร ต่อมาช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศน์พีทีวีถูกปิดกั้นสัญญาณดาวเทียม ผู้บริหารและผู้จัดรายการจึงออกมาปราศรัยที่ท้องสนามหลวง รวมถึงองค์กรประชาธิปไตยภาคประชาชน จึงเกิดการตั้งองค์กร “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” (นปก.) โดยณัฐวุฒิ เข้ารับตำแหน่งเป็นแกนนำคนหนึ่ง และขึ้นปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาโดยตลอด

ต่อมาในช่วงกลางปี พ.ศ. 2550 ณัฐวุฒิเข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 8 พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ทำให้ณัฐวุฒิได้รับการแต่งตั้งเป็น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษพกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

หลังจากที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์สิ้นสุดลง นปก. จึงเปลี่ยนชื่อองค์กรใหม่เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อเป็น นปช. โดยณัฐวุฒิยังคงเป็นแกนนำ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทย พ.ศ. 2552 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ณัฐวุฒิ ได้ถูกควบคุมตัว พร้อมกับวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิรากร และแกนนำคนอื่น ๆ ในข้อหาก่อการร้าย

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ณัฐวุฒิ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 19

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 7 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง

จนกระทั่งในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณัฐวุฒิ ได้ย้ายกลับพรรคเพื่อไทย โดยได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยนำพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล เขาจึงประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ทำความรู้จัก เต้น ณัฐวุฒิ
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เต้น ณัฐวุฒิ คือใคร
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เต้น ณัฐวุฒิ คือใคร
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
อ่านประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ภาพจาก Facebook : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button