ข่าวข่าวการเมือง

เปิดขั้นตอนโหวตนายก รอบ 3 รู้ผลกี่โมง เศรษฐาฝ่าด่านสำคัญ ลุ้นจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย

เปิดขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 3 ในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 จับตาโค้งสุดท้าย ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ หลังมีการเปลี่ยนขั้วพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเรียกเสียงโหวตจากสมาชิกวุฒิสภา

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือถึงแนวทางการประชุมรัฐสภา วันที่ 22 สิงหาคม โดยจะพยายามให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะถือเป็นวาระสำคัญ

Advertisements

ส่วนญัตติของนายรังสิมันต์โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีขอให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จะให้เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งค้างวาระอยู่เมื่อการประชุมรัฐสภา โดยการเสนอมติเรื่องดังกล่าวจะต้องได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีการโหวตนายกฯ รออยู่

สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ทีมงาน Thaiger ขอพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันอีกครั้ง ว่ามีวิธีการเลือกอย่างไรบ้าง พร้อมเช็กกำหนดการสำหรับการโหวตนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ เริ่มตั้งแต่กี่โมง จะมีการอภิปรายในประเด็นอะไรบ้าง หากพร้อมแล้ว มาอ่านรายละเอียดไปพร้อม ๆ กันได้เลย

ขั้นตอนการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย มีอะไรบ้าง

เข้าสู่การประชุมรัฐสภาวาระสำคัญ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ต้องการเสียงสนับสนุน 376 เสียง จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งนั้น สามารถรวบรวมเสียง สส.โหวตสนับสนุนนายเศรษฐาอยู่ที่ 314 เสียง จึงต้องลุ้นเสียง สว. เพิ่มอีก 61 เสียง

สำหรับขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จะมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน เริ่มเปิดประชุมตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า โดยพรรคการเมืองใด หรือขั้วการเมืองไหน ได้เสียง สส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ก็จะสามารถรวมเสียงจัดรัฐบาลเลือกนายกฯ กันได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อนายกฯ เพื่อโหวตรอบ 3

Advertisements

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. จะทำการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้คนละ 1 ชื่อ จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มี สส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องมี สส. รับรองอย่างน้อย 25 คน

ขั้นตอนที่ 2 อภิปราย-แสดงวิสัยทัศน์

ตามปกติประธานรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายซักถามเต็มที่ และทางประธานสภาจะมีการขอมติที่ประชุมให้แคนดิเดตนายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ได้อย่างเต็มที่ แต่กรณีของนายเศรษฐา วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้วว่าจะไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์

ขั้นตอนที่ 3 การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี

สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทำการลงมติอย่างเปิดเผย ด้วยการเรียกชื่อ สส.-สว. ตามลำดับอักษร โดยระบุว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” โดยต้องได้เสียงโหวตนายกมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือไม่น้อยกว่า 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง นายเศรษฐา ทวีสินจึงจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนที่ 4 ประธานรัฐสภาจะดำเนินการประกาศผลคะแนน

กรณีได้นายกรัฐมนตรี – หากมีมติเห็นชอบในการแต่งตั้ง ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ จะต้องได้รับคะแนนเสียง 376 เสียงขึ้นไป จึงจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

กรณีที่ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี – หากการลงคะแนนรอบที่ 3 ยังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะมีการนัดที่ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตต่อไป จนกว่าจะมีผู้ใดได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกฯ ว่าจะต้องสิ้นสุดลงเมื่อใด

ชั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

การเสนอโหวตนายกฯ มาด้วยช่องทางใดบ้าง

ตามกรอบกฎหมายระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร รับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

1. นายกฯ จากบัญชีพรรค โดยช่วงเปิดสมัคร สส. กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ มาด้วยไม่เกิน 3 รายชื่อ หรือบางพรรคจะไม่ส่งบัญชีนายกฯ เลย ก็สามารถทำได้

โดยการโหวตนายกฯ จะต้องเป็นชื่อแคนดิเดตจากบัญชีพรรค ที่ได้รับการเลือกตั้ง สส. ไม่นน้อยกว่าร้อยละห้า หรือจากพรรคที่ได้ สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีพรรค ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

2. นายกฯ นอกบัญชีพรรค คือ นายกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีที่พรรคได้แจ้งไว้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ การเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคไม่สามารถเลือกได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ระบุให้สมาชิก 2 สภา รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 375 คน สามารถเสนอให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อยกเว้นเงื่อนไขเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรค และหาก 2 สภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน รัฐสภาจะสามารถเลือก นายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีพรรคได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ (พ.ศ. 2562 – 2567) ให้ สว. เข้ามาร่วมโหวตนายกฯ ฉะนั้น หากแคนดิเดตฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น ได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาทั้ง 250 เสียง จะถือว่ามีแต้มต่อเป็นอย่างมาก

การเสนอโหวตนายกฯ รอบ 3 มีขั้นตอนอะไรบ้าง
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

เช็กไทม์ไลน์ โหวตนายก รอบ 3 เริ่มกี่โมง

วันโหวตเลือกนายกฯ จะเริ่มเวลา 10.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และอาจสิ้นสุดเร็วกว่ากำหนด รู้ผลว่าใครได้เป็นนายกไม่เกิน 6 โมงเย็น เพราะการเลือกนายกฯ ถือเป็นมติเร่งด่วน โดยสามารถสรุปไทม์ไลน์ได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • เวลา 10.00 น. เปิดประชุมรัฐสภาโดยการประชุมจะยึดตามข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการประชุม
  • เปิดให้สมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) แต่ละคนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ อภิปรายได้โดยไม่กำหนดระยะเวลา แต่ทั้งหมดจะต้องอภิปรายไม่เกิน 5 ชั่วโมง
  • ประธานรัฐสภา จะมีการเปิดโอกาสให้หารือและทบทวนมติ การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำ ซึ่งนายรังสิมันต์ โรม สส. ก้าวไกล จะเป็นผู้เสนอ
  • ประธานรัฐสภา จะเปิดให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ (กรณีที่ประชุมเสนอ)
  • เวลา 15.00 น. ประธานรัฐสภา จะเริ่มเปิดให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ ด้วยการเรียกชื่อ สส.-สว. ตามลำดับอักษร เพื่อระบุว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง
  • เวลา 17.30 น. รายงานผลการโหวต โดยจะรู้ผลในวันเดียวกันนี้เลยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยหรือไม่
โหวตเลือกนายกรอบ 3
ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

สรุปแล้ว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย รอบ 3 จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 ตามกำหนดการของประธานสภา โดยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เสียงจากสองสภา จำนวนทั้งสิ้น 750 คน ซึ่งทั้ง สส. และ สว. จะต้องทำการโหวต ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ ทั้งสิ้น 376 เสียงขึ้นไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไว้

ขอบคุณข้อมูลจาก1

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button