โปรดเกล้าฯ ตั้ง “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้
ทำความรู้จัก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หลังมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นทางการ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment)” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (18 สิงหาคม 2566) เป็นต้นไป
โดยการโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อหน่วยงานครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ ปัญหาภาวะโลกร้อน กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกต่างกำลังเร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง ประัะกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาแจ้งเตือนเกี่ยวกับอุณหภูมิพื้นผิวโลกและอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้ อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเริ่มต้นสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ดังนั้น การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง ?
นอกจากประกาศปรับเปลี่ยนชื่อซึ่งในรายละเอียดเ็นการนำ 2 หน่วยงานเกี่ยวกับการเฝ้าตรวจสอบสภาพแวดล้อมในไทยแล้ว ข้อสงสัยเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของกรมที่หลายคนเรียกทับฝศัพท์สั้น ๆ เพื่อให้สื่อสารกันโดยง่ายว่า กรม Climate Change นั้นมีบาทบาทหน้าที่และการทำงานอย่างไร
ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ได้อธิบายถึงกลไกและบาทหน้าที่สำคัญ ๆ ของกรม CCE (เป็นการรวมกันของ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) บทบาท
คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ ร่วมกันกำหนดนโยบายและกฎหมาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนการภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายทั้ง 76 จังหวัด ดำเนินการผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แก้ปัญหาในระดับพื้นที่ และมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคเป็นส่วนกลางช่วยทำงานเสริม โดยมีเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยมองทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และมีจังหวัดเป็นศูนย์กลาง
ขณะที่นาย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า หลังจากนี้รอเพียงการประกาศกฎกระทรวงการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่มีโครงสร้างการทำงานปรับปรุงจากโครงสร้างเดิมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมีโครงสร้างส่วนหนึ่งมาจาก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโครงสร้างการทำงานที่สมบูรณ์ พร้อมเริ่มงานตามภารกิจได้ทันที.