ไลฟ์สไตล์

ไขสงสัย ‘น้ำปานะ’ คืออะไร แบบไหนที่ถูกหลักพระวินัย

รู้หรือไม่ “น้ำปานะ” สิ่งที่พุทธศาสนิกชนคุ้ยเคย แต่อาจไม่รู้ว่าคือเครื่องดื่มที่ทำจากผลไม้สุก สำหรับผู้ที่ถือศีล 8 พร้อมเปิดวิธีทำ และวัตถุดิบที่ควรนำมาใช้ในการทำน้ำปานะ

พุทธศาสนิกชนอาจจะเคยได้ยินคำว่า น้ำปานะ แต่ไม่ทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร หรือมีไว้เพื่ออะไร วันนี้ทีมงาน Thaiger จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับน้ำปานะ เพื่อให้ชาวพุทธทุกท่านได้ทราบกัน โดยเริ่มจากที่มาของน้ำปานะ มาจากศีล 8 โดยศีล 8 นี้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติละเว้นสิ่งต่าง ๆ กล่าวคือมีจุดประสงค์เพื่อขัดเกลากิเลสของผู้ปฏิบัตินั่นเอง

เมนูน้ำปานะ อาหารยามวิกาล สำหรับผู้ถือศีล 8

โดยศีล 8 ดังกล่าวนี้ ในสมัยครั้งพุทธกาลเรียกว่า อุโบสถศีล มีองค์ 8 ได้แก่ เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ เว้นจากมุสาวาท เว้นจากสุราเมรัย เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล เว้นจากการตกแต่งร่างกายและดูการเล่น และเว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่

ซึ่งข้อ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตามหลักพระวินัย คือ ห้ามฉันอาหาร (ห้ามเคี้ยวอาหาร) หลังเที่ยงวันจนกว่าจะเช้าวันใหม่ แต่เนื่องจากพระสงฆ์ต้องปฏิบัติกิจของสงฆ์อยู่ เลยอนุญาตให้ฉันน้ำปานะได้

แล้วอะไรบ้างที่ถือว่าเป็น “น้ำปานะ”

และด้วยความที่เป็นหลักพระวินัย จึงมีข้อบังคับเกี่ยวกับ น้ำปานะ ที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ โดยน้ำปานะ ตามหลักพระวินัย คือเครื่องดื่มหรือน้ำที่คั้นจากผลไม้ที่สุกเองโดยธรรมชาติเท่านั้น ห้ามสุกด้วยไฟ อีกทั้งสามารถเก็บไว้ 1 วันกับ 1 คืนเท่านั้น และผลไม้ที่นำมาคั้นก็ไม่ควรเป็นผลใหญ่มาก ไม่มีเนื้อเจือปน โดยผลไม้ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้มี 8 ชนิด ได้แก่

      1. อัมพะปานะ น้ำมะม่วง
      2. ชัมพุปานะ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
      3. โจจะปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด
      4. โมจะปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
      5. มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร
      6. มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
      7. สาลุกะปานะ น้ำเหง้าบัว
      8. ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

หากนอกเหนือจากนี้ ตามหลักพระวินัย น้ำจากข้าว กาแฟ น้ำที่ผสมนม น้ำจากผลไม้ใหญ่ เช่น ผลตาล มะพร้าว แตงโม ฟักทอง รวมถึงน้ำจากถั่วชนิดต่าง ๆ ไม่สามารถฉันได้

ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของน้ำปานะ มีไว้เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ต่อได้ แม้จะถือศีล 8 อยู่ก็ตามนั่นเอง

ขั้นตอนและวัตถุดิบในการ “น้ำปานะ” ตามหลักพระวินัย

โดยในอดีตปรากฏวิธีการทำ น้ำปานะ ตามหลักพระวินัย เพื่อให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตาม โดยเริ่มจากปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก นำผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือ เพื่อให้น้ำปานะมีรสชาติที่ดีขึ้น หากท่านใดสนใจอยากลองทำน้ำปานะด้วยตนเองเพื่อถวายพระก็สามารถทำตามนี้ได้เลยค่ะ

และเมื่อทราบถึงวิธีการทำน้ำปานะแล้ว หากต้องการปฏิบัติตามหลักพระวินัย เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำน้ำปานะด้วยค่ะ ว่าวัตถุดิบชนิดไหนสมควรหรือไม่สมควรนำมาทำน้ำปานะ เพื่อเป็นการป้องกันการล่วงละเมิดพระบัญญัติ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. น้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย

โดยน้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย คือ สิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือวัตถุดิบที่ห้ามนำมาทำน้ำปานะ ได้แก่ น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) 7 ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้

รวมถึงน้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) 9 ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง นอกจากนี้ น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่าง ๆ ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ งา เป็นต้น แม้จะทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง หรือชนิดขวดที่วางขายตามท้องตลาด ล้วนจัดเป็นน้ำปานะที่ไม่สมควรทั้งสิ้น

2. น้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย

โดยน้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย คือ สิ่งที่ควรนำมาทำหรือวัตถุดิบที่ควรนำมาทำน้ำปานะ ตามที่บัญญัติไว้ในพระวินัย ได้แก่ น้ำปานะ 8 ชนิดดังที่กล่าวไปข้างต้น และน้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำผลไม้ชนิดไม่มีเนื้อเจอปน ที่วางขายโดยส่วนใหญ่ ก็จัดเป้นน้ำปานะด้วยเช่นกัน

สำหรับประโยชน์ของน้ำปานะนั้นก็มากมายทีเดียวค่ะ อย่างที่กล่าวไปว่าน้ำปานะทำมาจากผลไม้สุกคั่น ทำให้มีคุณประโยชนที่ได้จากผลไม้แบบเต็ม โดยประโยชน์เด่นหลัก ๆ เลยคือ ดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น แก้ร้อนใน ดับกระหาย อีกทั้งยังช่วยขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังเป็นยาระบายอ่อน ๆ มีวิตามินซีสูง ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟันอีกด้วยค่ะ

สรุปแล้ว น้ำปานะ ตามหลักพระวินัย ไม่ใช่น้ำเปล่า แต่หมายถึง น้ำที่ทำจากผลไม้สุก โดยต้องเป็นผลไม้ที่สุกเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้ แม้ว่าตามพระวินัย น้ำนมถั่วชนิดต่าง ๆ ที่บรรจุในกล่องจะไม่ถือว่าเป็นน้ำปานะ แต่หากท่านต้องการซื้อน้ำปานะไปถวายพระ ก็สามารถหาซื้อน้ำผลไม้ที่ไม่มีเนื้อเจือปน ที่จำหน่ายในเซเว่น หรือห้างสรรพิสินค้าทั่วไป เพื่อนำไปถวายพระได้โดยไม่ผิดหลักเช่นกันค่ะ

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button