6 ขั้นตอน ‘ทำงานประเทศเกาหลีใต้’ ถูกกฎหมาย อัปเดต 2566
แนะนำ วิธีไปทำงานเกาหลี ถูกกฎหมาย อัปเดต 2566 ตั้งแต่เริ่มเตรียมตัว เรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติม ลงทะเบียนแรงงาน เซ็นสัญญากับนายจ้าง จนถึงขั้นตอนการทำวีซ่าขออนุญาตทำงานแต่ละประเภท
ประเทศเกาหลีใต้ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นอกจากหลายคนจะอยากเดินทางไปท่องเที่ยวแล้ว ก็มีคนไทยอีกหลายคนที่อยากจะเดินทางไปทำงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีเงินค่าตอบแทนสูงกว่าที่จะได้รับในประเทศไทยหลายเท่าตัว
ซึ่งหากเทียบกับค่าครองชีพแล้วก็ยังสมเหตุสมผลกว่าการทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศเกาหลีใต้อย่างมาก
ใครที่กำลังมองหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ การไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีไม่น้อย ดังนั้นในวันนี้เดอะไทยเกอร์ขอถือโอกาสมาแนะนำวิธีไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้แบบถูกกฎหมาย ไม่ต้องเป็นผีน้อย ฉบับอัปเดตประจำปี 2566 สามารถติดตามอ่านไปพร้อมกันได้เลย
How To ไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ step by step แบบถูกกฎหมาย 2023
เตรียมความพร้อมก่อนไปทำงานที่เกาหลีใต้
แน่นอนว่าก่อนจะเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ได้ ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วไปสมัครงานกับนายจ้างได้เลย แต่ผู้ที่ต้องการไปทำงานแดนกิมจิจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองเสียก่อนว่าตรงตามที่กรมการจัดหางานไปที่ประเทศเกาหลีประกาศไว้หรือไม่
และที่สำคัญ การสื่อสารนั้นสำคัญยิ่งไม่เช่นนั้นจะใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนได้อย่างไร ดังนั้นหลังจากที่รู้ว่าตัวเองมีคุณสมบัติตรงตามที่ประกาศไว้แล้วก็เตรียมมองหาคอร์สเรียนภาษาเกาหลีกันไว้ได้เลย
ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนสอบ EPS-TOPIK
1. อายุตั้งแต่ 18-39 ปี
2. สายตาไม่บอดสีหรือบกพร่องการแยกสี
3. ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง และไม่เป็นโรคที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือเป็นโรคติดต่อตามที่ทางการเกาหลีกำหนด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส วัณโรค
โรคทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรง ไส้เลื่อน นิ่วในไต โรคหัวใจ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้น โรคจิตวิปริต
4. ไม่มีประวัติอาชญากรรม
5. ไม่เคยมีประวัติการถูกเนรเทศออกจากสาธารณรัฐเกาหลี
6. ไม่เป็นผู้ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
7. เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติถือวีซ่าทำงานแบบ (E-9) หรือ วีซ่า (E-10) ในประเทศเกิน 5 ปี
เรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติมเพื่อเตรียมสอบ EPS-TOPIK
เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองมีคุณสมบัติตรงตามที่งฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี (EPS) กำหนดไว้ ก็ต้องไปเรียนพิเศษภาษาเกาหลีเพิ่มเติมเพื่อจะได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารเมื่อเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว
สอบวัดความสามารถ EPS-TOPIK
ติดตามข้อมูลข่าวสารการเปิดรับสมัครสอบภาษาเกาหลี EPS-TOPIK จากกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th โดยผู้ที่ประสงค์จะไปทำงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ต้องเดินทางไปสมัครสอบด้วยตัวเองตามสถานที่ในประกาศของเว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งจะต้องเตรียมเอกสารดังนี้
1. สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) จำนวน 3 ฉบับ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ฉบับ
3. ใบสมัครทดสอบภาษาเกาหลี 1 แผ่น (สามารถรับได้ที่สถานที่รับสมัคร)
4. รูปถ่ายสีขนาด 3.5*4.5 เซนติเมตร ฉากด้านหลังสีขาว และไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน เป็นรูปถ่ายในคราวเดียวกัน เขียนชื่อนามสุกล เลขบัตรประชาชนด้านหลังรูปถ่ายด้วย จำนวน 3 แผ่น
5. ค่าธรรมเนียมการสมัคร 25 USD
ขึ้นทะเบียนผู้หางานกับกรมการจัดหางาน
เมื่อผ่านการสอบ EPS-TOPIK และทราบผลการสอบเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องการไปทำงานที่เกาหลีสามารถยื่นคำร้องสมัครไปทำงานกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตามวันและเวลาที่กระทรวงฯ ประกาศเพื่อไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้หางานในเกาหลี โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
1. เอกสารคำร้องสมัครงาน
2. ผลการสอบผ่านการคัดเลือก
3. ผลตรวจสุขภาพ
4. สำเนาหนังสือเดินทาง
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
6. รูปถ่ายสีขนาด 3.5*4.5 เซนติเมตร ฉากด้านหลังสีขาว และไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน เป็นรูปถ่ายในคราวเดียวกัน เขียนชื่อนามสุกล เลขบัตรประชาชนด้านหลังรูปถ่ายด้วย จำนวน 3 แผ่น
7. ค่าธรรมเนียมการสมัคร
เซ็นสัญญากับนายจ้างผ่านระบบ EPS
หลังจากขึ้นทะเบียนผู้หางานเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากว่าเราได้รับการคัดเลือก ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะติดต่อกลับภายในเวลา 3-6 เดือน หลังจากนั้นเราต้องเดินทางไปที่กรมการจัดหางานอีกครั้งเพื่อเซ็นสัญญาจ้าง ตามวันและเวลาที่นัดหมายไว้
ทำใบอนุญาตทำงาน (วีซ่า) ในประเทศเกาหลีใต้
เมื่อเซ็นสัญญาจ้างกับนายจ้างผ่านระบบ EPS เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการทำใบขออนุญาตทำงาน (วีซ่า) ตามประเภทของงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำ ณ ประเทศเกาหลีใต้
สำหรับใบอนุญาตทำงานในประเทศเกาหลีใต้ จะประกอบไปด้วยวีซ่า 2 ประเภท ตามทักษะความสามารถของผู้ที่จะเดินทางไปทำงาน ดังนี้
วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูง (professional visa)
C-4 วีซ่าสำหรับ “แรงงานมีทักษะที่เข้ามาทำงานระยะสั้นทุกประเภท” หรือแรงงานทุกคนที่มีแผนทำงานในเกาหลีใต้ไม่เกิน 90 วัน
D-10-1 วีซ่าสำหรับ “ผู้กำลังหางานทำในเกาหลีใต้” ในสายงานที่มีทักษะสูงทุกประเภท
E-1 วีซ่าสำหรับ “อาจารย์หรือผู้สอนในมหาวิทยาลัย” รวมไปถึงผู้ที่เข้าไปทำวิจัยในสถาบันระดับอุดมศึกษาต่างๆ วีซ่ามีอายุ 1 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ (multiple-entry)
E-2 วีซ่าสำหรับ “ครูสอนภาษาต่างประเทศ” ออกให้กับชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานสอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ วีซ่ามีอายุ 2 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
E-3 วีซ่าสำหรับ “นักวิจัย” ที่ทำการวิจัยใน “สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” หรือ ในสายงาน “เทคโนโลยีระดับสูง” วีซ่าประเภทนี้ต้องยื่นพร้อมจดหมายเชิญจากสถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ และมีอายุ 1 ปี ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
E-4 วีซ่าสำหรับ “นักเทคนิคและผู้ฝึกสอนด้านเทคนิค” ที่เข้ามาเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเกาหลีใต้ วีซ่าประเภทนี้ต้องยื่นพร้อมจดหมายเชิญจากสถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ วีซ่าประเภทนี้มีแบบทั้งเข้ารอบเดียว (single-entry) และเข้าได้หลายรอบ และสามารถต่ออายุได้ตามเงื่อนไขของแต่ละงาน
E-5 วีซ่าสำหรับ “ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ ที่ไม่มีชนิดวีซ่ารองรับโดยเฉพาะ” ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย การแพทย์ การบัญชี และอาชีพมีทักษะอื่นๆ ผู้สมัครวีซ่าชนิดนี้ต้องเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเภทดังกล่าวในประเทศเกาหลีใต้ เช่น หากเป็นแพทย์ ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมรักษาผู้ป่วยที่ออกโดยหน่วยงานของเกาหลีใต้
E-6 วีซ่าสำหรับ “แรงงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะ” รวมไปถึงผู้ที่ทำงานในวงการบันเทิงและกีฬา วีซ่ามีอายุ 1 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
E-7 วีซ่าสำหรับ “ผู้ที่เข้ามาทำภารกิจพิเศษที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม” เช่นข้าราชการที่ถูกเชิญเข้ามาปฏิบัติงานโดยกระทรวงยุติธรรม วีซ่ามีอายุ 1-3 ปี ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะต่ำ (non-professional visa)
E-8 สำหรับแรงงานใน “ภาคการเกษตรตามฤดูกาล” (ไม่ต้องทดสอบภาษาเกาหลี)
E-9-1 สำหรับแรงงานใน “ภาคการผลิต”
E-9-2 สำหรับแรงงานใน “ภาคการก่อสร้าง”
E-9-3 สำหรับแรงงานใน “ภาคการเกษตร”
E-9-4 สำหรับแรงงานใน “ภาคการประมง”
E-9-5 สำหรับแรงงานใน “ภาคการบริการ”
E-10 สำหรับ “ลูกเรือในภาคการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ”
เตรียมเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้
ก่อนเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลี ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทุกคนจะต้องเข้าคอร์ส “บังคับเรียน” ภาษาเกาหลี หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “คอร์สเตรียมบิน” เพื่อเตรียมตัวก่อนเดินทางไปทำงานจริง
และต้องเข้าการฝึกอบรมกับกรมการจัดหางานอีกครั้ง ซึ่งทางกรมฯ จะจัดการดำเนินการทุกอย่างให้แก่ผู้เดินทาง ตั้งแต่การเดินทางไปสนามบิน การเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้ ไปจนถึงเวลาที่ผู้ว่าจ้างของเกาหลีใต้มารับ
และทั้งหมดนี้ก็คือ 6 ขั้นตอน แนะนำวิธีเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้แบบถูกกฎหมาย ฉบับปี 2566 ซึ่งข้อมูลที่เดอะไทยเกอร์รวบรวมมานั้นต้องขอบอกก่อนว่าเป็นเพียงรายละเอียดคร่าว ๆ
ซึ่งหากว่าใครประสงค์จะเดินทางไปทำงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กับทางกรมการจัดหางาน สังกัดกระทรวงแรงงาน ผ่านทางเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือผ่านทางแฟนเพจ Facebook : Toea