28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ร่วมเฉลิมฉลองฤกษ์ชัยมหามงคลแผ่ไพศาล เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 71 พรรษา
วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2566 คือ “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” ในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน โดยพระชนมพรรษาครบ 71 พรรษา ทั้งยังเป็นวันหยุดชดเชยของข้าราชการ พนักงานเอกชน และธนาคาร ประจำปี ส่งผลให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. ถึงวันที่ 2 ส.ค. 66 รวมวันหยุดยาวทั้งหมด 6 วัน
และเนื่องด้วยวันเฉลิมฉลองอันเป็นมงคลต่อปวงชนชาวไทย ชวนพสกนิกรร่วมศึกษายินดีและปลาบปลึ้มปิติใจในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงสานต่อเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
เปิดพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 น. พระองค์ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 70 พรรษา
พระองค์ทรงมี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระเชษฐภคินี และทรงมีพระขนิษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
พระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “วชิราลงกรณ” ทรงตั้งจากคำว่า “วชิระ” ซึ่งเป็นพระนามฉายาขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กำลังออกผนวชอยู่ ผนวกกับคำว่า “อลงกรณ์” ที่มีความหมายว่า “ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต” จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระราชประวัติการศึกษาของ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษาครบ 4 พรรษา ก็ทรงเข้าศึกษาในชั้นอนุบาลที่ โรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 – 2513 ก็ทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
หลังจากนั้น พระองค์ได้ศึกษาวิชาทหารต่อในประเทศออสเตรเลีย และทรงศึกษาในระดับเตรียมทหารที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ จนถึงปี พ.ศ. 2514
ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้เข้าศึกษาการทหารระดับชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ในกรุงแคนเบอร์ราโดยสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2519 ทั้งยังได้รับถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
เมื่อทรงพระราชดำเนินกลับยังประเทศไทย พระองค์ทรงรับราชการทหาร และในปี พ.ศ. 2520 ทรงศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
รัชกาลที่ 10 ทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชานิติศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปี พ.ศ. 2525
ต่อมาพระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2533
พระราชกรณียกิจของ รัชกาลที่ 10
ทั้งนี้เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอร่วมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 10 ที่มีความโดดเด่นทางด้านทหาร และด้านการศึกษา
พระองค์ ทรงพระราชกรณียกิจทางด้านทหาร ตั้งแต่ยังเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร พระองค์ทรงรับราชการทหารมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ปี พ.ศ. 2518
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระปรีชาสามารถในด้านวิทยาการการบิน รอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พระองค์เคยเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ และทรงชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนั้น
นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทาน อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่โรงเรียนมัธยมศึกษาในชนบท ดังนี้
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 ใน จังหวัดนครพนม
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 ใน จังหวัดกำแพงเพชร
- โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 ใน จังหวัดสุราษฏร์ธานี
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 ใน จังหวัดอุดรธานี
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 ใน จังหวัดสงขลา
- โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 ใน จังหวัดฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดกรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดกรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดกรุงเทพฯ
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี
- โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ใน พระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร
- โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ใน จังหวัดระยอง
- โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ ใน จังหวัดนนทบุรี
- โรงเรียนราชปิโยรสายุพราชานุสรณ์ ใน จังหวัดน่าน
รัชกาลที่ 10 ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล พร้อมดำรงตำแหน่งประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ ทุกวันที่ 20 กันยายนของทุกปี
พิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุบรรณบัฏ คือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระองค์ทรงแสดงพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงราชาภิเษกสมรสกับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2562
อ้างอิง : 1