ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษา ‘ประยุทธ์’ ละเลยปัญหาฝุ่น PM 2.5
ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษา ประยุทธ์ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลังปัญหาเกิดขึ้นซ้ำทุกปี
ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ศาลระบุว่าผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.สุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566
โดยผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ปัญหาให้ฝุ่นเบาบางลง และประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัด และอย่านิ่งเฉยต่อปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยทำให้เป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหา คำพิพากษาระบุว่าจากการไต่สวน ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จนเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ตามคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญ ศาลปกครองเห็นว่าแม้สถานการณ์ปัญหาควัน หรือฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ได้คลี่คลายลงแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม
ที่ผ่านมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
จึงพิพากษาให้ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมกันใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใด เพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควัน หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ให้อยู่ในค่ามาตรฐานและเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ ของประเทศในระดับดีมากหรือระดับดี ต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก