ผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK เข้าร้องทุกข์ดีเอสไอ จี้เร่งรัดการจับกุม
เปิดเนื้อหา ผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK หลังเข้าร้องทุกข์ดีเอสไอ DSI วันนี้ กล่าวโทษผู้ต้องสงสัย 8 ราย นำโดย วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ
วันที่ 6 ก.ค.66 ผู้แทนของเหยื่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อย บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีมากกว่า 11,000 ราย ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI กล่าวโทษบุคคล และนิติบุคคลรวม 8 ราย มีนายวนรัชต์-ชนินทร์-ชินวัฒน์- กุศล-ศรัทธา นิติบุคคลและอื่นๆ ฐานฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับขอให้อายัดทรัพย์ และห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางไปนอกประเทศ
โดยกลุ่มผู้แทนฯ ได้มีการเรียกร้องให้เร่งรัดการจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันที เนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศ
นอกจากนี้ ขอให้ DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที ประกอบด้วย
- บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
- บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
- นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบุคคลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ให้ข้อมูลว่าอาจได้รับผลประโยชน์จากการโอนเงินเข้าบัญชี บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
- นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK
- นายชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตกรรมการ STARK
- นายกุศล สังขนันท์ อดีตกรรมการ STARK
- นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน STARK
- และหรือบุคคล นิติบุคคลอื่นใดที่ร่วมกันสมคบคิดกระทำผิดโดยทุจริต
ทั้งนี้ เนื้อหาบาวงส่วนในหนังสือร้องเรียนนั้น ระบุถึง บุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างปี 2563-2564 สร้างงบการเงินบริษัทปลอม ทำให้พวกข้าพเจ้าที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยมากกว่า 11,000 ราย เข้าไปซื้อหุ้นลงทุน แต่ปรากฎความจริงจากการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษในภายหลังว่ามีการเบียดบังเงินของบง STARK ไปมากถึง 10,451 ล้านบาท
โดยอ้างว่าเป็นการจ่ายให้บริษัทคู่ค้า 3 ราย แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับพบว่า STARK ไม่ได้จ่ายให้บริษัทคู่ค้าดังกล่าวแต่เป็นการโอนเงินออกไปให้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรง อันเป็นพฤติการณ์ผิดกฎหมายฐานฟอกเงิน
ทั้งยังปรากฏตามหลักฐานการให้สัมภาษณ์ของ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีต CFO ของ STARK ว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารของ STARK 3 ราย โดยรับคำสั่งโดยตรงจาก นายชนินทร์ ให้ปลอมแปลงบัญชี เพื่อหลอกลวงให้พวกข้าพเจ้า ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่ากิจการของ STARK กำลังมึความเจริญก้าวหน้า และราคาหลักทรัพย์มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้น พวกข้าพเจ้าจึงหลงเชื่อพากันเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน จนผลักดันให้ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่5.50 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากถึง 73,733 ล้านบาท
ซึ่ง นายศรัทธา ให้สัมภาษณ์ว่า นายวนรัชต์ได้ขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไปได้เงินมากกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดฐานปั่นหุ้นลวงให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิด และฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากเมื่อความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่าความจริงบริษัทประสบปัญหาขาดทุน จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ เข้าเกณฑ์ต้องหยุดการซื้อขายเพื่อฟื้นฟูกิจการ ราคาหลักทรัพย์ได้ตกมาเหลือราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 0.02 บาท หรือเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 268 ล้านบาท หรือมูลค่าหลักทรัพย์เสียหายไปรวมมากกว่า 73,465 ล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเนื่องจากราคาหลักทรัพย์ใม่ได้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดตามปกติธุรกิจ
ทั้งนี้ บรรดาผู้กระทำผิดร่วมขบวนการยังได้บังอาจกระทำการหลอกลวงโดยเจตนาทุจริต ให้พวกข้าพเจ้าหลงเชื่อโดยเสนอแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จทางสารสนเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ประชาชนตลอดจนบริษัทกองทุนต่างๆ หลงเชื่อข้อมูลเท็จที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวนำเสนอและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ หลายกรรมหลายวาระ อันเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเป็นการฉ้อโกงประชาชน
พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนรายย่อยใน STARK มากกว่า 11,000 ราย รวบรวมหลักฐานชั้นต้นได้ 21 รายและอีก 1,759 ราย พร้อมจะร่วมเป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีทั้งอาญาและทางแพ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใด จึงได้ร่วมกันมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดยขอให้ท่านเร่งดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันกระทำความผิดจำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ รวมทั้งขอให้เร่งรัดจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันที เนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวน และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที
อีกทั้งขอให้ DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที.