ประวัติ ‘ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์’ ทูตสันถวไมตรีศรีลังกา คืนถิ่นเมืองไทย
ย้อนรอย ประวัติความเป็นมา “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างเลี้ยงคู่บุญกลับสู่บ้านเกิดเมืองไทย หลังต้องจากไปนานเป็นทูตสันถวไมตรีที่ ประเทศศรีลังกา นานถึง 20 ปี
เปิดประวัติ “พลายศักดิ์สุรินทร์” (Plai Sak Surin) หรือ “มธุราชา” (Muthu Raja) เกิดที่ประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุราว 30 ปี เป็นช้างที่ถูกคัดเลือกจากรัฐบาลไทยมาให้มาเป็น “ทูตสันถวไมตรี” มอบให้กับรัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2544 (ค.ศ. 2001) จากบ้านเกิดเมืองไทยไปนานกว่า 22 ปี
จากนั้นรัฐบาลศรีลังกาได้ตัดสินใจมอบช้างพลายศักดิ์ให้แก่วัด “คันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้ดูแลต่อไป เพื่อนำช้างพลายศักดิ์ไปฝึกใช้ในการ “อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว งานใหญ่ประจำปีของประเทศศรีลังกา โดยมีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี จนถึงปัจจุบันนั่นเอง
ปัจจุบัน “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างคู่บารมีประวัติศาตร์ไทย ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว โดยเครื่องบิน IL-76 มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 07.30 น. วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
หลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และควรกลับมามารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย
ประวัติ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างคู่บุญสานไมตรีศรีลังกา
พลายศักดิ์สุรินทร์ (Plai Sak Surin) หรือ “มธุราชา” (Muthu Raja) เป็นหนึ่งในช้าง 3 เชือกที่รัฐบาลไทยมอบให้เป็น “ทูตสันถวไมตรี” มอบให้กับรัฐบาลศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2544 หรือ ปี ค.ศ. 2001 และได้ถูกโอนกรรมสิทธิ์ ไปฝึกใช้อยู่ที่วัด “คันเดวิหาร” (Kande Vihara) สำหรับประกอบพิธีกรรม อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี โดยถูกจัดขึ้นในประเทศศรีลังกา ต่อเนื่องมานานกว่า 270 ปี
สำหรับ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ นับว่าเป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกา มีตำแหน่งเป็น “ช้างเลี้ยง” ที่ไม่ใช่ช้างป่า โดยมีนาย “ทองสุก มะลิงาม” ควาญช้างไทยเป็นเจ้าของผู้ดูแลในช่วงที่เติบโตในประเทศไทย
ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนประเทศไทย ไปอาศัยอยู่ในประเทศศรีลังกา ตั้งแต่อายุ 10 ปี นับว่าเป็นช่วงวัยลูกช้างขนาดเล็ก จนกระทั่งปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566 ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ มีอายุมากกว่า 30 ปี
ลักษณะความงดงามของ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ตามที่รัฐบาลประเทศศรีลังกาต้องการนั้น คือมีงาโดดเด่นโค้งยาว 50 เซนติเมตร หรือลักษณะที่เรียกกันว่า “งาอุ้มบาตร” เนื่องจากว่าช้างในประเทศศรีลังกาส่วนใหญ่จะมีลักษณะของงาที่สั้นกว่านั่นเอง
วางแผนนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับไทย
อย่างไรก็ตาม ชื่อของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” (Plai Sak Surin) ก็ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของคนไทยไปตามกาลเวลา กระทั่งได้ปรากฎบนสื่ออีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2565 องค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา “Rally for Animal Rights & Environment” หรือ “RARE” ได้ทำการร้องเรียนกรณี การใช้แงงานพลายศักดิ์สุรินทร์หนัก และกล่าวว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สภาพความเป็นอยู่ถูกล่ามโซ่ ผอมโซขาดสารอาหาร ทั้งยังพบบาดแผลฝีบริเวณสะโพก และขาที่บาดเจ็บ จึงเห็นว่าควรได้รับการรักษาพยาบาลในทันที
ต่อมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว ภายหลังจากการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ จึงพบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ทำให้ต้องร่วมกับคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไทยจากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางเพื่อเช็กอาการและตรวจสุขภาพความเป็นอยู่ของ พลายศักดิ์สุรินทร์
จากนั้นในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ถูกย้ายมาดูแลเบื้องต้นที่ “สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา” หรือ “สวนสัตว์เดฮิวาลา” (Dehiwala) ณ กรุงโคลัมโบ
กระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และควรกลับมามารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยสารด้วยเครื่องบิน IL-76 มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เมื่อเวลา 07.30 น. เรียบร้อยแล้ว
ถัดมาได้มีการนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์”ไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และประกาศงดเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงให้ช้างได้พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงสร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ส่งช้างเชือกแรกไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือ “พลายประตูผา” (ปัจจุบันอายุ 49 ปี) เมื่อปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันมีอายุ 49 ปี และต่อมาก็ได้ส่ง ช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2544
ทั้งนี้ จากข่าวการนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับสู่ถิ่นกำเนิดประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย นับว่าเป็นภารกิจสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในการขนย้ายช้างข้ามประเทศนั่นเอง ซึ่งการนำช้างข้ามประเทศครั้งแรก เกิดขึ้นระหว่าง ประเทศปากีสถาน ไปยัง ประเทศกัมพูชา.
ข้อมูลและภาพจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช