รวมตัวละครดัง จากสุดยอดวรรณคดี “สุนทรภู่” กวีเอกแห่ง 4 แผ่นดินสยาม
รวมตัวละครดัง จากสุดยอดวรรณคดีของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการยกย่องทั่วโลกว่าเป็นเชกสเปียร์ของเมืองไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก
ร่วมรำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าตลอดชีวิตใน 4 รัชกาล จากการสร้างบทกลอนอันไพเราะ ทำให้ผลงานของสุนทรภู่ได้ถูกสืบทอดต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยผลงานของกวีเอกท่านนี้ได้ถูกบันทึกลงในแบบเรียน รวมถึงถูกดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ มากมาย ในวันนี้ Thaiger จะมารวบรวมตัวละครดัง จากวรรณคดีสุนทรภู่ เนื่องในวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2566 มีตัวละครอะไรบ้าง มาจากเรื่องไหน ตัวละครนั้นมีลักษณะนิสัยอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลย
รวมตัวละครดัง ในวรรณคดีสุนทรภู่ กวีเอกแห่ง 4 แผ่นดินสยาม มีอะไรบ้าง
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน จนได้รับยกย่องเป็น ‘เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย’ เนื่องจากได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่แล้ว ตัวละครในวรรณคดีที่สุนทรภู่ได้สรรสร้างขึ้นมา ได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก โดยตัวละครยอดนิยมในวรรณคดีสุนทรภู่ มีดังนี้
พระอภัยมณี
1. พระอภัยมณี
โอรสของท้าวสุทัศน์ กษัตริย์แห่งกรุงรัตนา กับนางปทุมเกสร มีน้องชายชื่อศรีสุวรรณ พระอภัยมณีไปเรียนเป่าปี่จนเชี่ยวชาญ สามารถทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่เคลิ้มหลับได้ แต่ท้าวสุทัศน์ไม่พอใจจึงขับไล่พระอภัยมณีออกจากเมืองไปพร้อมกับศรีสุวรรณ พระอภัยมณีมีนิสัยเจ้าชู้ จึงมีภรรยาหลายคน
ไม่ว่าจะเป็น นางผีเสื้อสมุทร มีลูกชายชื่อสินสมุทร นางเงือก มีลูกชายชื่อสุดสาคร นางวาลีที่อาศัยอยู่ด้วยกันไม่นานก็ตายจาก และนางสุวรรณมาลีมีธิดาฝาแฝด คือ สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา และนางละเวงวัณฬา มีลูกชายชื่อมังคลา
2. นางผีเสื้อสมุทร
นางผีเสื้อสมุทรอาศัยอยู่ในถ้ำซึ่งอยู่กลางทะเล สามารถแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยได้ เนื่องจากชาติก่อนได้รับพรจากพระอิศวรให้ถอดดวงใจใส่ไว้ในก้อนหินได้ นางจึงกำเริบใจไปต่อสู้กับพระเพลิงจึงถูกไฟกรดเผาจนร่างมอดไหม้ ทำให้นางได้กลายเป็นปีศาจสิงอยู่ในก้อนหินที่ฝากดวงใจไว้
3. นางเงือก
นางเงือก หญิงสาวที่กายท่อนบนรูปงาม แต่ท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไปมีหางเป็นปลา อาศัยอยู่ในทะเล นางเงือกกับพ่อแม่ของนางได้ช่วยพาพระอภัยมณีกับสินสมุทรหนีนางผีเสื้อสมุทรไปที่เกาะแก้วพิสดาร แต่พ่อแม่ของนางหนีไม่ทันจึงโดนนางผีเสื้อสุมทรจับกิน แล้วนางเงือกก็ตกเป็นภรรยาของพระอภัยมณีในเวลาต่อมา
4. สุดสาคร บุตรของพระอภัยมณีกับนางเงือก
สุดสาครเป็นเด็กที่มีความสามารถในการว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง โยคีนำมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่เพิ่งคลอดและคอยสั่งสอนวิชาต่าง ๆ ให้แตกฉาน เมื่ออายุได้ 3 ขวบก็สามารถจับม้านิลมังกรได้ โยคีแนะนำให้สุดสาครตามหาพ่อโดยให้ไม้เท้าวิเศษไว้ป้องกันตัวและบวชเป็นโยคีให้ ระหว่างทางถูกชีเปลือยแก่หลอกไปผลักตกเหว แล้วยึดไม้เท้ากับม้านิลมังกรไป แต่ไม่นานม้าก็หนีกลับมาหา โยคีตามไปช่วยสุดสาครขึ้นจากเหวได้จึงรับเลี้ยงสุดสาครไว้เป็นลูกบุญธรรม
ขุนช้าง ขุนแผน
1. ขุนช้าง
ขุนช้าง ลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทองซึ่งมีฐานะรวยมาก นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบาย เกิดมาหัวล้าน รูปร่างน่าเกลียด ยิ่งเติบใหญ่ หัวก็ยิ่งล้านกว่านกตุกรุม คางและอกมีขนขึ้นรุงรังดูน่าเกลียดน่ากลัวจนเด็กเล็กต่างร้องไห้ตกใจกลัว นอกจากนี้ขุนช้างได้รับราชการกรมตำรวจภูบาล กรมเดียวกับขุนแผน และยังลวงนางพิมพิลาไลยมาเป็นภรรยาอีกด้วย
2. ขุนแผน
พระยากาญจนบุรี (พลายแก้ว) หรือขุนแผน เป็นลูกของขุนไกรพลพ่าย และนางทองประศรี มีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาฉลาดเฉลียว ด้วยลักษณะนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และมีคารมคมคาย จึงง่ายต่อการพิชิตใจหญิงสาว มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือม้าสีหมอก หลังจากที่บวชเณรแล้วได้สึกออกมาแต่งงานกับนางพิมพาลาไลย
3. นางวันทอง
นางวันทองหรือนางพิมพิลาไลย เป็นหญิงรูปงามแต่ปากจัด เป็นบุตรของพันศรโยธาและนางศรีประจัน ต่อมาได้แต่งงานกับขุนแผน และมีบุตรชายด้วยกัน คือ พลายงาม และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวันทอง ต่อมานางถูกแม่บังคับให้แต่งงานใหม่กับขุนช้าง ทำให้ถูกประนามว่าเป็นหญิงวันทองสองใจ เมื่อมีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา ซึ่งพระองค์ให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใคร แต่นางตัดสินใจไม่ถูกจึงโดนสั่งประหารชีวิต
4. สมเด็จพระพันวษา
สมเด็จพระพันวษา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรทั้งหลายต่างอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บรรดาประเทศใกล้เียงก็อ่อนน้อมเพราะยำเกรงบารมี สมเด็จพระพันวษา มีนิสัยโกรธง่าย แต่พระองค์ก็นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความยุติธรรมต่อพวกทหาร เสนาอำมาตย์ และราษฎรพอสมควร เมื่อมีคดีฟ้องร้องกัน ก็จะให้มีการไต่สวนและพิสูจน์ความจริง
นิราศอิเหนา
1. อิเหนา
อิเหนาหรือระเด่นมนตรี เป็นโอรสของท้าวกุเรปันและประไหมสุหรีนิหลาอระตา แห่งกรุงกุเรปัน อิเหนาเป็นชายรูปงามมีเสน่ห์ เจรจาอ่อนหวาน นิสัยเจ้าชู้ ท้าวกุเรปันได้สู่ขอบุษบาหนึ่งหรัด ธิดาของท้าวดาหาเป็นคู่ตุนาหงันตั้งแต่อิเหนายังเด็ก เมื่ออิเหนาโตเป็นหนุ่มก็ได้พบกับจินตะหราวาตีและหลงใหลนางมาก จึงปฏิเสธไม่ยอมแต่งงานกับบุษบา แต่พอได้พบกับบุษบาก็หลงรักนาง จนกระทั่งลักพาตัวนางไปขณะที่นางกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับระตูจรกา
2. บุษบา
บุษบา ธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง เมื่อประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใด มารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคน ใจกว้างและมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่น
3. ท้าวกุเรปัน
ท้าวกุเรปัน กษัตริย์ผู้ถือครองกรุงกุเรปัน มีมหเหสี 5 องค์ตามประเพณีของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา พระองค์ทรงหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีของวงศ์อสัญแดหวาจึงจัดการคาคู่ตุนาหงัน ที่เป็นเชื้อสายของวงศ์อสัญแดหวาด้วยกัน ให้โอรสและธิดาของพระองค์ตั้งแต่เด็ก ๆ ดังนั้นจึงไม่พอพระทัยเมื่ออิเหนาไปมีสัมพันธ์รักกับจินตระหราวาตี ธิดาของระตูหมันหยาองค์ใหม่
4. ท้าวกะหมังกุหนิง
ท้าวกะหมังกุหนิง ผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิง เมื่อพระองค์ทราบว่าวิหยาสะกำคลั่งไคล้ใหลหลงบุษบา ซึ่งเพียงแต่เห็นรูปวาดเท่านั้น พระองค์ทรงแต่งทูตไปสู่ขอนางทันที แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะท้าวดาหายกบุษบาให้เป็นคู่หมั้นของระตูจรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงจึงโกรธมาก จึงยกทัพย์ไปตีกรุงดาหาเพื่อแย่งบุษบามาให้วิหยาสะกำ
โคบุตร
1. โคบุตร
บุตรแห่งพระอาทิตและนางอัปสร เป็นมนุษย์กึ่งเทพ มีพลังมหาศาลเท่ากับพญาคชสาร 5 เชือกรวมกัน แรกเริ่มที่อาศัยอยู่กับพญาราชสีห์เจ้าป่าดึกดำบรรพ์ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีชาติกำเนิดอย่างไร เพียงแต่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากราชสีห์ตัวอื่น ๆ ในฝูงเท่านั้น
2. ชงโค
ราชสีห์หนุ่มผู้พี่ เป็นเพื่อนเล่นกับโคบุตรมาตั้งแต่เล็ก คอยช่วยเหลือเวลาผิดพลาด รักโคบุตร และพ่อแม่ราชสีห์มาก ชงโคถูกวางตัวให้เป็นราชันย์เจ้าป่าคนต่อไป
3. พญาราชสีห์ และนางราชสีห์
พ่อและแม่เลี้ยงของโคบุตร เป็นผู้ปกครองป่าดึกดำบรรพ์ด้วยความสงบสุขเสมอมา ตามคำขอร้องของพระอาทิตย์ที่มาฝากบุตรไว้ เป็นราชสีห์ผัวเมียที่มีอำนาจสั่งการสิงห์สาราสัตว์ได้ทั้งผืนป่า
ทั้งหมดนี้คือ ตัวละครดังในวรรณคดีของสุนทรภู่ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากผลงานของสุนทรภู่ ได้มีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร นอกจากนี้แล้วผลงานประพันธ์หลายชิ้น ยังได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ผลงานกวีเอกของเมืองไทยให้สืบต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน