เปิดไทม์ไลน์ วันโหวตนายก-เลือกประธานสภา หลัง กกต. รับรอง ส.ส. 500 คน อย่างเป็นทางการ

สรุปไทม์ไลน์ วันโหวตนายก และ วันเลือกประธานสภา หลัง กกต. ประกาศผลรับรอง ส.ส. 500 คน ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต รับรองแล้วการเมืองไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อ สภาพร้อมเปิดแล้วหรือไม่
ในวันที่ 19 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อว่า ทางกกต.ตรวจสอบรายงานจากความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด รายงานการตรวจสอบสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ได้รับเลือกตั้ง และตรวจสอบเรื่องคัดค้านของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และ 3 แหล่งข่้อมูล
จากการตรวจสอบเรื่องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ของกลุ่มภารกิจงานสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย เมื่อกกต.ได้พิจารณาแล้วจึงมีมติให้ประกาศผลการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน
อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่กกต.ประกาศรับรอง สามารถมารับหนังสือรับรองได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน – 24 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ไทม์ไลน์ หลัง กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ทั้ง 500 คน ต้องทำอย่างไรต่อบ้าง
สำหรับทิศทางการเมืองไทยหลังที่คณะกรรมการ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ทั้ง 500 คนแล้วนั้น ตามรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
“ภายใน 15 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต้องเกิดการประชุมสภา โดยถือเป็นการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งพระมหากษัติรย์จะต้องเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง”
ต่อมา ส.ส. จะต้องเสนอชื่อคนละหนึ่งชื่อจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้เสนอเอาไว้ก่อนหน้าในการลงสมัครรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นทั้งสองสภาจะทำการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมติเห็นชอบจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และให้ประธานสภาเป็นผู้ประกาศผลการลงคะแนนต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ประธานสภานำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
ทั้งนี้ หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตามวิธีดังกล่าว สามารถเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเสนอชื่อบุคคลนอกรายชื่อเดิมของพรรคการเมืองเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือนายกรัฐมนตรีคนนอกนั่นเอง

สรุปไทม์ไลน์ โหวตนายก-เลือกประธานสภา ตรงกับวันที่เท่าไร?
เส้นทางไทม์ไลน์ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส. ทั้ง 500 คน หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจ้งไทม์ไลน์วันโหวตเลือกนายกคนใหม่ของประเทศไทย และวันเลือกประธานสภาอย่างคร่าว ๆ ดังนี้
- 19 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครบ 500 คน
- 20-24 มิถุนายน 2566 ส.ส. 500 คน เดินทางไปรับหนังสือรับรองที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- 20-28 มิภุนายน 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน เดินทางไปรายงานตัวที่รัฐสภา
- 6 กรกฎาคม 2566 เปิดสมัยประชุมรัฐสมาใหม่ครั้งแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
- 13 กรกฎาคม 2566 เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
- 21 กรกฎาคม 2566 จัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
- ปลายเดือนกรกฎาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ จะมีผลให้ ครม.ชุดปัจจุบันสิ้นสุดวาระทันที

สรุปแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 500 คนเสร็จสิ้น จะต้องมีการประชุมสภาครั้งแรกเกิดขึ้นภายใน 15 วันหลังประกาศผล โดยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 จะเป็นวันเลือกประธานสภา ส่วนวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะเป็นวันโหวตเลือกนายก จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เพื่อเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก – 1