เปิดประชุมสภา วันไหน ? หลัง กกต. รับรอง 500 ส.ส.
ส่องไทม์ไลน์ เปิดประชุมสภา วันไหน หลัง กกต. รับสอง 500 ส.ส. เรียบร้อยแล้ววันนี้ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ขั้นตอนต่อไปเปิดประชุมรัฐสภาเลือกตำแหน่ง ประธานสภา นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ พร้อมคาดการณ์ประชุมสภานัดแรก
ภายหลังจากวันนี้ (19 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ออกมาแถลงผลการประชุม กกต.ว่า สำนักงาน กกต.ได้เสนอผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อครบ 100 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น
ล่าสุด เริ่มมีกระแสคาดการณ์ ทิศทางต่อไปจากนี้ตามกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล 2566 โดยหลังจาก กกต. ประกาศรับรองผลของ 500 ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ
อ้างอิงข้อมูลจากรายงานเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวที่พรรคก้าวไกล กรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(18 มิ.ย.) มีรายงานระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย หารือลงตัวและพร้อมแถลงในวันที่ 22 มิ.ย. 66 นี้ ซึ่งเป็นวันที่ แกนนำ 8พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนัดประชุมกัน โดยคาดว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองส.ส. ในวันที่ 21 มิ.ย. 66 ทำให้จำเป็นต้องหาข้อยุติเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้น เพื่อที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สำหรับสาเหตุที่ยังไม่เปิดเผยชื่อประธานสภาออกมาตอนนี้ เนื่องจากเป็นการให้เกียรติพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในการแถลงข่าวพร้อมกันครั้งเดียวอย่างเป็นทางการ
ส่วนรายชื่อประธานสภาฯ คาดว่าเป็นไปตามโผของสื่อหลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ที่มีการกล่าวถึง “ตัวเต็งประธานสภาฯ” จากพรรคก้าวไกล 4 คนที่ติดโผ ได้แก่
- ณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12
- ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส. เขต 18 กทม.
- ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส. เขต 1 จ.พิษณุโลก
- พริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11
ไทม์ไลน์คาดการณ์ “วันเปิดประชุมสภานัดแรก”
ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้กับคณะรัฐมนตรี โดยคาดการณ์ว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง
ส่วน วันที่ 20 ก.ค.66 คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมสภาฯ รวมถึงวันสุดท้ายให้ ส.ส. รายงานตัว
จากนั้น ไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะมีกระบวนการตามลำดับ ดังนี้
- วันที่ 24 ก.ค.66 พิธีเปิดประชุมรัฐสภา
- วันที่ 25 ก.ค.66 เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
- วันที่ 26 ก.ค.66 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ
- วันที่ 3 ส.ค.66 เลือกนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 10 ส.ค.66 แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
- วันที่ 11 ส.ค.66 ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ
สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกา หรือ “พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา” ยังไม่ได้ระบุวันที่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานองคมนตรี เมื่อมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คนแล้ว ให้นำร่าง พ.ร.ฎ. เรียกประชุมรัฐสภา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.83 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน แบ่งเป็นจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน โดย ม.84 บัญญัติให้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว (จำนวน 475 คน) หากมีความจําเป็นจะต้องเรียก ประชุมรัฐสภาให้สามารถดำเนินการเรียกประชุมได้
สรุป ไทม์ไลน์ (คาดการณ์) เปิดประชุมสภา – เลือกนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สรุปไทม์ไลน์จากนี้ หลังจาก กกต. ประกาศรับรอง 500 ส.ส. ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยในปีนี้ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจะกระทำที่ โถงรัฐพิธี สัปปายะสภาสถาน
จากนั้น สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี สัปดาห์ที่ 2 คาดว่า จะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ได้ และมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลปัจจุบันจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ประมาณกลางเดือนสิงหาคม.
- กกต. รับรอง 500 ส.ส. แล้ว แบบแบ่งเขต – บัญชีรายชื่อ
- กกต. เผย ม.151 รู้ขาดคุณสมบัติ แต่ยังสมัครเลือกตั้ง ส.ส. มีผลยังไง
- ขั้นตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 2566 ลงมติเมื่อไหร่.