ข่าวข่าวการเมือง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งโต๊ะแถลง ตอบข้อสงสัย 3 ข้อปม ITV

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกโรงชี้แจง 3 ข้อสงสัยจากสาธารณะชนว่าด้วยเรื่อง ITV โดยเฉพาะประเด็นการนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3

นาย ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในวันนี้ (16 มิ.ย. 66) ว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดข้อสงสัยจากสาธารณชนหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 และรายละเอียดด้านอื่นๆ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รวบรวมประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหลักของสาธารณชน 3 ประเด็น ประกอบด้วย

Advertisements

1. การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3

2. สถานะของ บมจ.ไอทีวี

3. รายงานการประชุมของบริษัทฯ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอชี้แจงตามประเด็นดังกล่าว ดังนี้

1. การนำส่งงบการเงินตามแบบ ส.บช.3 การจัดทำและการส่งงบการเงินของนิติบุคคลนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 ที่ได้กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามมาตรา 8 ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นสำนักงานกลางบัญชี ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยการยื่นงบการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

Advertisements

สำหรับวิธีการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการนำส่งงบการเงิน จะอยู่ในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องแนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พ.ศ.2565 โดยนิติบุคคลที่มีหน้าที่นำส่งงบการเงินต้องทำการกรอกข้อมูลในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการนำส่งงบการเงิน เช่น รอบปีงบการเงินที่นำส่ง รายละเอียดของกิจการ ชื่อ ที่ตั้ง ข้อมูลผู้ทำบัญชี ข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ถ้ามี) ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัส

ทั้งนี้ การนำส่งงบการเงินให้กับกรมฯ เป็นการแสดงถึงผลประกอบการและสถานะทางการเงินของนิติบุคคล เพื่อให้สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่การยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด

2. สถานะของ บมจ.ไอทีวี ปัจจุบันมีสถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดนิยามไว้ แต่เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่า เป็นนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสถานะอื่นใด เช่น จดทะเบียนเลิก พิทักษ์ทรัพย์ ล้มละลาย หรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น สถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” จึงเป็นการบอกว่า นิติบุคคลได้ถูกจัดตั้ง และมีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่านิติบุคคลนั้นมีการทำกิจการหรือประกอบกิจการทางการค้าใดในความเป็นจริงอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีการประกอบกิจการในลักษณะใดจะแสดงข้อมูลผลการดำเนินการและฐานะการเงินในงบการเงินนั้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับสถานะของบุคคล ก็เปรียบเสมือนบุคคลที่เกิดและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้

3. รายงานการประชุมของบริษัทฯ การนำส่งสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีของบริษัทมหาชนจำกัดนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการยื่นแจ้งงบการเงินประจำปีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะทำให้ทราบว่า งบการเงินฉบับดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 127 ที่ระบุว่า “บริษัทต้องจัดส่งรายงานประจำปี พร้อมกับสำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแล้ว และสำเนารายงานประชุมผู้ถือหุ้นเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุมัติงบดุล การจัดสรรกำไร และแบ่งเงินปันผล” โดยกรมฯ มีหน้าที่รับเอกสารตามที่นิติบุคคลได้ยื่นต่อกรมฯ

ทั้งนี้ หากพบว่า มีรายงานการประชุมในส่วนของวาระอื่น นอกเหนือจากที่กรมฯ ได้ระบุ และนอกเหนืออำนาจตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ ที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งใดแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ อาจพิจารณาเป็นการดำเนินการเป็นการภายในของบริษัทที่จะต้องมีการตรวจสอบและชี้แจงต่อไป

“กรมฯ ขอให้สาธารณชนสบายใจได้ว่า การดำเนินการของกรมฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด” อธิบดีพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวทิ้งท้าย

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button