ไลฟ์สไตล์

เปิดสาเหตุ ทำไมห้องสมุด ถึงไม่เรียกว่าห้องหนังสือ คำถามคาใจจากรุ่นสู่รุ่น

ตอบปัญหาคาใจ ทำไมห้องสมุด ถึงไม่เรียกว่าห้องหนังสือ ทั้งที่มีแต่หนังสือเต็มไปหมด ไม่มีสมุดเลยสักเล่ม หนึ่งในคำถามยอดฮิตตลอดกาลที่เป็นทั้งข้อสงสัยจากยุคสู่ยุค และมุกตลกขำขันในโลกโซเชียล วันนี้ Thaiger จะพาทุกคนมาเจาะลึกว่าสาเหตุที่เรียกว่าห้องสมุด มาจากอะไร พร้อมเผยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ควรรู้

ไขข้อข้องใจ ทำไมห้องสมุด ถึงไม่เรียกว่าห้องหนังสือ

ห้องสมุด ถือเป็นหนึ่งในคลังความรู้ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สถานที่รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเอาไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ แต่ทำไมห้องสมุดถึงเรียกว่าห้องสมุด ทั้งที่เข้าไปก็เจอแต่หนังสือ ไม่มีสมุดเลยสักเล่ม วันนี้ไทยเกอร์จะมาเปิดที่มาของการเรียกว่าห้องสมุด ที่มาสุดอึ้งที่จะมาตอบข้อสงสัยของทุกท่านได้อย่างชัดเจน ดังนี้

เปิดที่มาของสมุดไทย จุดเริ่มต้นองค์ความรู้ของไทย

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการถกถามอยู่บ่อยครั้งว่าทำไมห้องสมุดถึงไม่เรียกว่าห้องหนังสือ เมื่อย้อนกลับไปในยุคสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ทำให้มีการบันทึกข้อความต่าง ๆ ลงในใบลาน หรือบางครั้งก็จะมีการบันทึกลงในกระดาษข่อย ซึ่งสมัยนั้นมีการเรียกว่า “สมุดไทย” หรือ “สมุดข่อย”

สำหรับเรื่องราวที่มีการบันทึกผ่านสมุดไทย มักจะเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก วรรณกรรมทางศาสนา กฎหมาย ตำรายา หรือตำราโหราศาสตร์ ซึ่งสมุดไทยได้มีการใช้มาอย่างยาวนานในสังคมไทย จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ความนิยมในการใช้สมุดไทยก็เริ่มลดลง เนื่องจากการรับศิลปวิทยาการเทคโนโลยีการพิมพ์ และการเย็บเล่มแบบหนังสือของชาวตะวันตกเข้ามาในสยามช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ทำไมถึงเรียกว่าห้องสมุด
ภาพจาก Facebook Page : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

จากสมุดไทยสู่ห้องสมุด แหล่งรวบรวมความรู้รอบด้าน

จากการบันทึกตำรา เรื่องราวต่าง ๆ ลงในสมุดไทยมากขึ้นจึงได้มีการนำสมุดไทยมาเก็บไว้ในตู้ และเรียกตู้ดังกล่าวว่า “ตู้สมุดไทย” รวมถึงการนำสมุดไทยเก็บไว้ในห้องเพื่อรวบรวมคลังความรู้ต่าง ๆ จึงกลายเป็น “ห้องสมุดไทย” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ห้องสมุด” ในที่สุด

ในช่วงระยะแรกห้องสมุดมักจะตั้งอยู่ในวัดและพระราชวัง เพื่อเผยแพร่คัมภีร์พระไตรปิฎก และวรรณกรรมทางศาสนา เนื่องจากขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังไม่มีความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ ทำให้ทักษะดังกล่าวถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะหมู่ชนชั้นสูง และในแวดวงศาสนา ภิกษุ สามเณรเท่านั้น

จนกระทั่งช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามได้รับเอาวิทยาการเทคโนโลยีการพิมพ์จากตะวันตก ทำให้การคัดลอกลายมือลงบนสมุดไทยค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย และเป็นยุคเริ่มต้นของการใช้สมุดฝรั่ง เพื่อใช้แทนสมุดไทย หรือหนังสือตามแบบที่เราใช้เป็นองค์ความรู้ในปัจจุบัน

ทำไมถึงเรียกว่าห้องสมุด ไม่ใช่ห้องหนังสือ
ภาพจาก Facebook : Neilson Hays Library

คำว่า ‘ห้องสมุด’ ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อไหร่

หลายคนอาจจะยังสงสัยคำว่า ‘ห้องสมุด’ ถูกเรียกอย่างเป็นทางการขึ้นในตอนไหน ซึ่งคำดังกล่าวถูกบัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ในช่วงก่อนหน้าได้มีหลักฐานปรากฏว่าเราเคยใช้คำนี้มาก่อนแล้ว คือคำว่า ‘หอพระสมุด’ ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่คำว่าหอพระสมุดเป็นสถานที่ที่เป็นของหลวงหรือภายในพระบรมมหาราชวัง

ทำไมถึงเรียกว่าห้องสมุด
ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติ

สรุปแล้ว เหตุผลที่เราเรียกห้องสมุดนั้น มาจากสมัยสุโขทัยที่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาและบันทึกข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ลงในสมุดไทยหรือสมุดข่อย เมื่อองค์ความรู้แพร่หลายมากขึ้น จึงได้มีการนำสมุดไทยมาเก็บไว้ในตู้และกลายเป็นห้องสมุดในที่สุด แต่เมื่อสยามรับเอาวิทยาการใหม่ ๆ จากตะวันตกเข้ามา ทำให้องค์ความรู้ที่เคยบันทึกในสมุด กลายเป็นหนังสือเหมือนที่เราเห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองค่ะ

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button