ไลฟ์สไตล์

สงสัยไหม ทำไมพระประจําวันพุธถึงมี 2 องค์ แยกกลางวัน-กลางคืน เรื่องนี้มีที่มา

สงสัยไหมชาวพุทธ ทำไมพระประจำวันพุธถึงมี 2 องค์ 2 ปาง พุธกลางวัน และ พุธกลางคืน ทั้งที่พระประจำวันอื่นมีวันละ 1 องค์ เป็นเพราะอะไร

คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ คงคุ้นเคยดีกับการบูชา พระประจำวันเกิด แต่จะมีอยู่ 1 วันที่มีจำนวนปางของพระพุทธรูปเยอะกว่าใครเพื่อน ถูกต้องค่ะ วันพุธนั่นเอง หลายคนอาจจะรู้ว่าคนเกิดวันพุธถูกแยกเป็น วันพุธกลางวันกับวันพุธกลางคืน ทำไมต้องแยกกลางวัน – กลางคืน ทำไมวันอื่นจึงไม่มี มาติดตามเกร็ดความรู้ชวนให้คิดข้อนี้ ไปพร้อมกับทีมงาน Thaiger กันเลย

ทำไมพระประจำวันพุธถึงมี 2 องค์

สาเหตุที่พระประจำวันเกิดของคนวันพุธแตกต่างจากพวก ในทางพุทธศาสนาไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในทางโหราศาสตร์ระบุไว้ว่า เป็นเพราะวันพุธถือเป็นวันตรงกลาง แบ่งครึ่งหน้าและครึ่งหลังของสัปดาห์พอดี

บางความเชื่อก็ว่าเป็นเพราะดาวสำคัญมี 8 ดวง แต่สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน ดังนั้นจึงยึดเอาวันกลางสัปดาห์มาแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อให้จำนวนวันครบตามจำนวนของดวงดาว

โดยการสร้างพระประจำวันเกิดนั้น ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สำหรับวันพุธกลางวันและวันพุธกลางคืน จะมีพระประจำวันเกิดที่แตกต่างกัน 2 ปางประจำช่วงเวลา ดังนี้

วันพุธกลางวัน – ปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธกลางวัน อยู่ในอิริยาบถประทับยืนและประคองบาตรด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง

ทำไมพระประจำวันพุธถึงมี 2 องค์ พุธกลางวัน

ที่มาของพระปางนี้เป็นเหตุการณ์หลังจากพระพุทธเจ้าได้แสดงบุญญาภินิหาร บันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงกลางหมู่ญาติที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ ในวันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าก็ได้เทศนามหาเวสสันดรชาดก และเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกอีก 20,000 องค์

สำหรับคนเกิดวันพุธกลางวัน เชื่อว่าหากได้สวดมนต์บูชาพระปางอุ้มบาตรประจำทุกวัน วันละ 17 บท จะทำให้ชีวิตพบแต่ความสุขสวัสดียิ่ง ๆ ขึ้น

บทสวดบูชาพระประจำวันพุธกลางวัน ปางอุ้มบาตร

สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ ยันนาเสติ
วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ
สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง สัพพะโสปิ
นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเห

วันพุธกลางคืน – ปางป่าเลไลยก์ หรือ ปางปาลิไลยก์

สำหรับพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ หรือ ปางปาลิไลยก์ เป็นพระประจำวันพุธกลางคืน อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนโขดหิน พระบาทวางบนฐานบัว โดยพระหัตถ์ด้านซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ (เข่า) ส่วนพระหัตถ์ขวาหงายขึ้น เป็นสัญลักษณ์การรับของถวาย

โดยมีช้างปาลิไลยก์หมอบที่ด้านขวาของพระองค์ พร้อมชูงวงที่ถือคนโทน้ำ ส่วนลิงนั่งทางด้านซ้าย ในมือถือรวงผึ้ง เป็นปางที่เตือนใจเหล่าสงฆ์ที่ไม่ปรองดองกัน

ทำไมพระประจำวันพุธถึงมี 2 องค์ พุธกลางคืน

ที่มาของพระปางป่าเลไลยก์ มาจากพรรษาที่ 10 ขณะที่พระพุทธองค์ประทับที่โฆษิตาราม เมืองโกสัมพี เป็นช่วงที่เหล่าสงฆ์แตกสามัคคี มัวเมาในมานะทิฏฐิ ประพฤติตัวนอกโอวาท พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยังป่าปาลิไลยกะแต่เพียงผู้เดียว โดยมีช้างปาลิไลยก์คอยทำวัตรถวายพระพุทธเจ้า ต่อมาลิงเกิดความเลื่อมใส จึงได้นำรวงผึ้งมาถวายพระองค์ด้วย

หลังจากนั้นเหล่าชาวบ้านที่ต้องการพบพระพุทธองค์ได้ทราบความเข้า ต่างก็ตำหนิการกระทำของเหล่าภิกษุสงฆ์ เหล่าสงฆ์เกิดละอายและสำนึกผิดจึงได้ไปตามเสด็จพระพุทธองค์ออกจากป่าปาลิไลยกะนั่นเอง

สำหรับคนเกิดวันพุธกลางคืน เชื่อว่าหากได้สวดมนต์บูชาพระปางป่าเลไลยก์ประจำทุกวัน วันละ 12 บท จะทำให้ชีวิตพบแต่ความสุขสวัสดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

บทสวดบูชาพระประจำวันพุธกลางคืน ปางป่าเลไลยก์ บทที่ 1

ยัสสานุภาเวนะ ยักขา เนวะ ทัสเสนะติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโตจะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห

บทสวดบูชาพระประจำวันพุธกลางคืน ปางป่าเลไลยก์ บทที่ 2

กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ

สรุปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้พระประจําวันพุธมี 2 องค์ มีระบุไว้ในทางโหราศาสตร์เท่านั้นว่า วันพุธคือวันตรงกลางที่แบ่งสัปดาห์ออกเป็น 2 ส่วน และเพื่อให้จำนวนวันในสัปดาห์มีเท่ากับจำนวนดาวสำคัญ 8 ดวง

แต่ไม่ว่าเหตุผลในการมีพระประจำวันเกิดแตกต่างจากวันอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร การมีเลื่อมใสศรัทธาและประพฤติปฏิบัติตนในกรองศีลธรรมที่ดีงาม ก็ย่อมส่งผลดีต่อผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน ไม่เพียงเฉพาะผู้ที่เกิดวันพุธเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่เกิดในวันอื่นทั้งสัปดาห์เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button