วิธีป้องกัน ‘สัตว์อันตราย’ ประจำ ‘หน้าฝน’ ไม่ต้องกลัวไป แต่ให้รู้จักระวัง
เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากระวังไม่ให้เป็นหวัดแล้ว อย่าลืมระวัง สัตว์อันตราย ที่มักจะออกอาละวาดช่วงหน้าฝนกันด้วย SAIJAI (ใส่ใจ) ชวนคุณมาดูวิธีรับมือและป้องกันสัตว์ร้ายหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษทำร้าย รวมถึงแหล่งที่อยู่ของพวกมัน เพื่อความปลอดภัยทั้งครอบครัว
ทำเนียบ ‘สัตว์อันตราย หน้าฝน’ เตรียมป้องกันสัตว์เหล่านี้ไว้ให้ดี
สัตว์มีพิษที่อันตรายต่อชีวิตและมักออกเพ่นพ่านหนักในช่วงฤดูฝน ส่วนมากจะเป็นสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงสัตว์ที่พบเจอได้ในที่อยู่อาศัยของเรา แม้ว่าสัตว์บางชนิดเราอาจไม่ได้เจอในชีวิตประจำวันง่ายนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเจอ ดังนั้นความไม่ประมาทสำคัญที่สุด มาเตรียมพร้อมไปกับใส่ใจกันเลยค่ะ
1. ตะขาบ
หลายคนคงเคยเจอตะขาบมาป้วนเปี้ยนอยู่ในบ้าน ถ้าโชคดีหน่อยก็อาจจะเจอตัวเล็ก ๆ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะเจอตะขาบตัวใหญ่ชวนให้ตกอกตกใจไม่น้อย โดยตะขาบเป็นสัตว์ที่ชอบที่เย็น ๆ ซ่อนตัวตอนกลางวัน ออกหากินตอนกลางคืน
เมื่อถูกตะขาบกัดจะมีอาการปวดแสบ บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด หากมีการติดเชื้อจะมีแผลไหม้นานถึง 2 -3 วันเลยทีเดียว
วิธีปฐมพยาบาล : หลังถูกกัดห้ามขยับแผลบริเวณนั้น ให้รีบทำความสะอาดโดยใช้ผ้าพันแผลพันรอบแผลและประคบน้ำแข็ง พยายามยกแขนและขาสูง ๆ ให้ยาแก้ปวดหรือยาแก้แพ้ทันที หากอาการรุนแรงให้รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้อยู่ในความดูแลของแพทย์โดยเร็ว
2. งูพิษ
งูพิษมีหลายสายพันธุ์ ควรระวังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีต้นไม้เยอะ ๆ หากโดนงูกัด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตั้งแต่วิงเวียน มึนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือรุนแรงขนาดหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นได้เลย
วิธีปฐมพยาบาล : เมื่อถูกงูกัดควรรีบตั้งสติ ถ่ายรูปงูหรือสังเกตลักษณะของมันให้ดี จากนั้นรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด อย่าขูด ทุบ หรือดูดพิษเองออกจากบริเวณที่โดนกัด และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
3. กิ้งกือ
กิ้งกือเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อคน เนื่องจากปกติแล้วมันจะไม่กัดคนค่ะ แต่หากมีใครไปยุ่งกับมัน กิ้งกือจะปล่อยพิษออกจากต่อมเพื่อป้องกันตัวนั่นเอง สารพิษของกิ้งกือจะมีกลิ่นเหม็น เมื่อโดนแล้วจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นตุ่มน้ำ แม้จะใช้เวลาหลายวันแต่สุดท้ายแผลจะจะหายได้เอง
วิธีปฐมพยาบาล : หากโดนพิษกิ้งกือให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือหากเข้าตาก็ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ หรืออาจมีการใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการปวดบริเวณแผลและช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
4. แมงป่อง
สถานที่ในบ้านที่มีโอกาสพบแมงป่องมากที่สุด คือ ห้องครัว ห้องน้ำ หรือท่อแอร์ เนื่องจากแมงป่องชอบที่ชื้นและเย็น
ความรุนแรงของพิษแมงป่องจะแตกต่างไปตามชนิดของมัน โดยผู้ป่วยที่โดนแมงป่องต่อยจะเริ่มออกอาการภายใน 4 – 7 นาที เริ่มจากมีอาการปวดแสบปวดร้อน บริเวณที่ถูกต่อยมีแผลปวดบวมแดง รู้สึกชา คัน คลื่นไส้ แต่หากพิษเข้าสู่กระแสเลือดจะเริ่มทำให้กล้ามเนื้อชัก เกร็ง อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
วิธีปฐมพยาบาล : ประคบเย็นบริเวณที่ถูกต่อยเพื่อลดอาการบวมแดง ยกขาและแขนให้สูง ๆ เข้าไว้ และรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้แพ้ คอยสังเกตอาการและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีหากผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจผิดปกติ
5. แมงมุม
แมงมุมเป็นอีกหนึ่งชนิดสัตว์ที่พบเจอได้ในบ้านที่อยู่อาศัยของเรา มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ หากถูกแมงมุมมีพิษกัดหรือต่อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกกัด ไปจนถึงคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง และหายใจเร็วผิดปกติ
วิธีปฐมพยาบาล : หากถูกพิษแมงมุมให้รีบประคบเย็นบริเวณที่ได้รับพิษโดยเร็ว ใช้ครีมสเตียรอยด์หรือแอมโมเนียเพื่อลดอาการปวดบวมบริเวณแผล และรับประทานยาแก้ปวดแก้แพ้ด้วย หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
6. แมลงสาบ
แมลงสาบเป็นสัตว์ไม่พึงประสงค์ของทุกบ้าน ซึ่งจะออกมาเพ่นพ่านถี่เป็นพิเศษในช่วงหน้าฝน แมลงสาบถือเป็นพาหะนำโรค โดยมันมักจะแพร่กระจายเชื้อโรคที่ติดตามร่างกายและมูลที่ถ่ายออกมา ลองนึกสภาพแมลงสาบที่อาศัยในท่อระบายน้ำ พอฝนตกน้ำในท่อเอ่อล้น เจ้าพวกแมลงสาบก็หนีขึ้นมาจากท่อพร้อมเชื้อโรคมากมายดูสิคะ แต่คิดก็ไม่น่าอภิรมย์แล้ว
หากได้รับเชื้อโรคจากแมลงสาบ ผู้รับเชื้ออาจมีอาการแพ้คันบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะคนที่มีประวัติภูมิแพ้หรือหอบหืด มักแสดงอาการมากเป็นพิเศษ
วิธีปฐมพยาบาล : หากได้รับเชื้อจากแมลงสาบให้ทานยาแก้แพ้ และทำความสะอาดบริเวณที่เกิดการระคายเคืองหรือผื่นคัน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากแมลงสาบ โดยไม่ควรทิ้งเศษอาหารเรี่ยราด กำจัดขยะในบ้านให้ดี ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด
7. ด้วงก้นกระดก
ด้วงก้นกระดกพบมากช่วงเข้าฤดูฝน จะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือด้วงก้นกระดกก็ให้สังเกตจากสีบนลำตัวเลยค่ะ มันมักจะมีสีส้มสลับดำ ส่วนท้องมักจะกระดกขึ้นลงตลอดเวลา
ปกติแล้วก้นกระดกจะไม่กัดคน แต่หากเราเผลอไปใช้มือตบหรือตีมันเข้า สารพีเดอรินซึ่งเป็นพิษในร่างกายของมันจะสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์ได้ ทำให้เกิดแผลปวดแสบร้อน พุพอง เป็นไข้ หรือหากเข้าตาอาจรุนแรงถึงขั้นทำตาบอดได้เลยทีเดียว
ดังนั้นทางที่ดี เราไม่ควรไปสัมผัสก้นกระดกเป็นอันขาด หากมันไต่ขึ้นมาบนตัวเราก็ให้ล่อมันไปที่อื่นด้วยไฟ เนื่องจากก้นกระดกชอบเล่นไฟนั่นเอง
วิธีปฐมพยาบาล : หากโดนพิษด้วงก้นกระดก ให้รีบล้างบริเวณที่โดนพิษด้วยน้ำสะอาด ใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีมทาเพื่อลดอาการคัน ปวดแสบร้อนที่แผล หรือหากมีอาการรุนแรงกว่านั้นก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ทั้งหมดนี้คือสัตว์อันตรายที่ SAIJAI อยากให้คุณระวังไว้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน นอกจากความหวังดีแล้ว เรายังมีบริการดี ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น แม่บ้าน, คนขับรถ, ติวเตอร์, เสริมสวย, พี่เลี้ยงเด็ก, พี่เลี้ยงดูแลสัตว์, คนดูแลผู้สูงอายุ และ ช่างซ่อมบำรุง พร้อมมาให้บริการคุณผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ saijai.io อีกด้วย
หากสนใจสามารถเข้าไปสอบถามหรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก SAIJAI Homecare หรือกดสมัครสมาชิก SAIJAI FAMILY MEMBERSHIP ได้ที่เว็บไซต์ https://pointspot.co/@SAIJAI_Homecare สิทธิพิเศษดี ๆ รอคุณอยู่เพียบ
สุดท้ายนี้ SAIJAI ยังมีส่วนลดสุดพิเศษมาฝากทุกคนอีกด้วย เพียงแอดไลน์ @saijai_care แล้วแจ้งโค้ด SAIJAITHAIGER ในช่องแชต รับไปเลย Voucher มูลค่า 50 บาท สำหรับใช้เป็นส่วนลดค่าบริการเมื่อทำรายการจองบนแพลตฟอร์ม saijai.io กันไปฟรี ๆ เลย อย่าลืมดูแลทุกคนในบ้านให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหน้าฝน และอย่าลืมให้ใส่ใจช่วยดูแลเพิ่มอีกแรงด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, nih.dmsc.moph.go.th