พรรคเพื่อไทย แถลงโต้ครอง ประธานสภา ชี้ดันแต่นโยบายพรรคแกนนำเป็นสิ่งผิด
เพื่อไทย แถลงเรื่อง ประธานสภา ชี้สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลผสม ประธานสภา ดังนั้นควรผลักดันนโยบายทุกพรรค ดันแต่นโยบายพรรคแกนนำเป็นสิ่งผิด เลี่ยงใช้มวลชนกดดัน
เมื่อวันที่ 26 พรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงเจตนารมณ์ถึงประเด็น “ประธานสภา” แสดงจุดยืนตลอดจนความชัดเจนในตำแหน่งหัวเรือใหญ่ตามระบอบรัฐสภาไทยอีกครั้ง โดยเป็นการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดผ่านช่องทางสื่อสารของทางพรรค ระบุเนื้อหาดังนี้
“ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน “ทุกนโยบาย” ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น”
“ปัจจุบันที่เป็น “รัฐบาลผสม” มีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย”
“ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก”
“หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯและประธานสภามาโดยตลอด ไม่มีพรรคอันดับสองได้ นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด”
“อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 119 ระบุว่า ประธานสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยเป็นประธานของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลด้วย”
“ทางรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ ประธานสภา ต้องวางตนเป็นกลาง เป็นประธานของฝ่ายค้านและรัฐบาล รัฐธรรมนูญ มาตรา 116 จึงบัญญัติว่า ประธาน และ รองประธานสภาผู้แทน จะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้”
“ประธานสภาจึงต้องผลักดันญัตติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือประชาชนเข้าสู่สภา ไม่เลือกปฏิบัติ และหาทางลดอุปสรรคทั้งหลาย ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา”
“การยกเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีประธานสภาเพื่อไว้ผลักดันนโยบายของพรรคแกนนำ จึงเป็นความคิดผิดมาตั้งแต่ต้น เท่ากับวางบทบาทให้ประธานสภาไม่เป็นกลางมาแต่ต้น”
ย้อนกลับไปฟัง ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาฯ พรรคเพื่อไทย พูดถึงจุดยืนพรรค เรื่องตำแหน่งประธานสภาเอาอย่างไร
ทั้งนี้ จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้กล่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุยตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคก้าวไกล เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก 8 พรรคการเมืองได้ลงนามเอ็มโอยู (MOU)
โดย “ประเสริฐ” เผยว่าพรรคเพื่อไทยได้แจ้งความประสงค์ไปยังแกนนำของก้าวไกลถึงตำแหน่งประธานที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งก้าวไกลบอกว่าขอเวลา 2-3 วัน นำคำตอบมาให้ ขณะนี้ก็รอพรรคก้าวไกลอยู่
ส่วนที่ทั้ง 2 ฝั่งต่างออกมาพูดว่าตำแหน่งต้องเป็นของฝั่งไหน เลขาธิการพ.ท. ระบุ ตำแหน่งประธานสภาเป็นตำแหน่งสำคัญ อยากให้คำนึงถึงความเหมาะสม แต่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยอมพรรคเพื่อไทยก็คงต้องกลับมาหารือกันอีกครั้งว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร หรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร
ส่วนจะต้องนัดพูดคุยกันอย่างเป็นทางการอีกครั้งหรือไม่ เพราะก้าวไกลประกาศชัดเจนว่าตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกล นายประเสริฐ ระบุว่า ต้องพูดคุยกัน เพราะหากปล่อยให้ต่างฝ่ายออกมาพูดก็ไม่จบสักที และยิ่งนานไปก็ไม่ใช่ผลดี หากมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการเรื่องคงจบได้ ที่ผ่านมาการคุยกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมอื่น ๆ บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง ไม่มีบรรยากาศที่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
สำหรับกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงยืนยันว่า ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกลจะต้องคุยกับพรรคก้าวไกลใหม่หรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว นายประเสริฐ ระบุว่า ทั้ง 2 ฝั่งต่างออกมาพูดว่าตำแหน่งต้องเป็นของฝั่งไหน ซึ่งตำแหน่งประธานสภาเป็นตำแหน่งสำคัญ อยากให้คำนึงถึงความเหมาะสม แต่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยอมพรรคเพื่อไทยก็คงต้องกลับมาหารือกันอีกครั้งว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร หรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร.
- คุณสมบัติ ประธานสภา มีหน้าที่สำคัญอะไรบ้าง
- ดราม่า ประธานสภา ก้าวไกล VS เพื่อไทย
- ประวัติ สุชาติ ตันเจริญ ดีกรีอดีตรองประธานสภาฯ.