ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

MOU ก้าวไกลมีอะไรบ้าง ดูชัด ๆ ก่อนนัด 8 พรรคร่วมรัฐบาลเซ็นวันนี้

จับตา 16.30 น. วันนี้ พรรคก้าวไกล เซ็น MOU ใช้ฤกษ์รัฐประหาร 57 ทำสัญญารัฐบาลประชาชน นัด 8 พรรคร่วมรัฐบาลจรดปากกาเซ็นร่างบันทึกหข้อตกลงสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง ดูรายละเอียดเอ็มโอยู 13 ข้อ ก้าวไกล ก่อนสะบัดน้ำหมึกวันนี้

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้จัดการตั้งรัฐบาล เปิดเผยผลการพูดคุยเพื่อจัดทำ MOU ร่วมกันบรรลุผลไปได้ด้วยดี โดยต่อมา “พรรคก้าวไกล” ก็ได้เผยเนื้อหา การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) หรือ เอ็มโอยู (MOU) เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของทางพรรค

Advertisements

รายละเอียด ร่าง MOU ก้าวไกล ทั้งหมด มีดังนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร ?

พรรคก้าวไกล ยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่าการจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้งไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง

ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่ง เราได้เดินหน้าเพื่อเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคการเมือง (รวมทั้งหมด 313 คน) ที่เราเชื่อว่า มีอุดมการณ์และมุมมองต่ออนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ที่สอดคล้องกันในภาพรวม

ในเมื่อรัฐบาลก้าวไกลเป็นรัฐบาลผสม ที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความชัดเจนว่ารัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระอะไรบ้าง เราแบ่งวาระออกเป็น 2 ส่วน

Advertisements

1. วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล (ระบุใน MOU)

  • วาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน

2. วาระ “เฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU)

  • วาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจาก (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ) นโยบายใน MOU ผ่าน 2 กลไกหลัก

2.1. ผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี

  • เช่น (หากพรรคก้าวไกลบริหารกระทรวงศึกษาธิการ) นโยบายการศึกษานอกเหนือจากใน MOU ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

2.2. ผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค เช่น กฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคพร้อมเสนอสู่สภาทันทีที่สภาเปิด ไม่ว่าจะปรากฎอยู่ใน MOU หรือไม่

จัดตั้งรัฅฐบาล 2566
แฟ้มภาพ

พรรคก้าวไกล เรายืนยันว่าจะพยายามเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกล ที่เราสื่อสารกับประชาชนก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการพยายามบรรจุนโยบายเข้าไปใน วาระ “ร่วม” หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU เราจะผลักดันต่อผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่เรามีในสภาผู้แทนราษฎร

แม้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลลักษณะนี้ อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวที่อ้างอิงจากหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก จะเป็นกระบวนการที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ในประเทศ ที่ยกระดับความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย และเพิ่มความชัดเจนกับประชาชนว่าในบริบทของรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยนโยบายที่ทั้งมีจุดร่วมและจุดต่างกัน รัฐบาลผสมนี้จะร่วมผลักดันและรับผิดชอบวาระอะไรเพื่อประชาชน

ฝากทุกท่านติดตามการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลและการเปิดรายละเอียด MOU ที่ทุกพรรคร่วมลงนามกันได้ในวันพรุ่งนี้ (22 พฤษภาคม) เวลา 16.30 น.

อัปเดต MOU 23 ข้อ พรรคร่วมลงนามจัดตั้งรัฐบาล

คืบหน้าล่าสุด ภายหลังการแถลงลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ได้เปิดเผยแนวทางร่วมกันออกมาชัดเจนแล้วเป็นกรอบนโยบายกว้างๆ 23 ข้อ ดังนี้

1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลัก ประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม

5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา)

11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15. แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน

16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

20. ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ

21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี รวมถึงรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

ที่มา : พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

ประวัติ ชัยธวัช เลขาธิการพรรคก้าวไกล
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (แฟ้มภาพ)

ร่าง MOU ก้าวไกล กับพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ไทยสร้างไทย ประชาชาติ เป็นธรรม เสรีรวมไทย เพื่อไทรวมพลัง พรรคใหม่ และพรรคพลังสังคมใหม่

สำหรับหัวข้อในร่างบันทึกข้อตกลง 13 ข้อ มีดังนี้

  1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ
  2. คืนความยุติธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร
  3. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
  4. ปฏิรูปกองทัพ
  5. ยกเลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา
  6. สมรสเท่าเทียม
  7. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
  8. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
  9. ออกกฎหมายนิรโทษกรรม (ยกเว้นคอร์รัปชัน-อันตรายถึงชีวิต)
  10. แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ไฟฟ้า)
  11. จัดงบประมาณแบบใหม่ (ฐานศูนย์)
  12. เพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงอายุ
  13. สร้างรัฐโปร่งใส
mou ก้าวไกล คืออะไร
แฟ้มภาพ
จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย 8 พรรค
แฟ้มภาพ

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button