หายสงสัย! ติดโควิด-19 ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 ได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง
คลายข้อสงสัย ติดโควิด-19 ออกไปใช้สิทธิเบือกตั้งได้ไหม ? พร้อมวิธีแก้ไข หากป่วยหนักจนไม่สามารถออกจากบ้านได้ สามารถรักษาสิทธิได้อยางไร สธ. มีคำตอบ
ใกล้เข้าสู่วันชี้ชะตาของอนาคตประเทศไทยกับ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 วันเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ของโรคระบาด โควิด-19 (Covid-19) ก็ยังคงแพร่ระบาด อีกทั้งมาพร้อมกับสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ซึ่งล่าสุดพบว่ามีประชาชนหลายคนติดง่ายขึ้น และอาการหนัก
งานนี้หลายคนเกิดเป็นคำถาม หากติดโควิดสามารถไปเลือกตั้งได้ไหม ซึ่งทางกรมอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาให้คำตอบแล้วว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 ได้ ในกรณีที่ไม่เป็นผู้เจ็บป่วย หรืออาการไม่หนักมาก แต่หากใครที่มีอาการหนัก ก็มีแนวทางการรักษาสิทธิ์ได้ด้วยเช่นกัน
ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ไหม ?
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้มีความเสี่ยงสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ดังปกติเช่นกัน โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ กกต. ณ เขตนั้นทราบ เพื่อจัดคูหาพิเศษสำหรับผู้ป่วย และมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1. เตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เจลแอลกอฮอล์ ปากกา
2. สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้นตลอดเวลา
3. หลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะ แนะนำให้เดินเท้าหรือใช้รถยนต์ส่วนตัว
4. เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
5. เข้าคูหาที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น
6. ทำการหย่อนบัตรด้วยตนเอง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่
7. เมื่อเสร็จจากการเลือกตั้งกลับที่พักทันที
กรณีผู้ที่เจ็บป่วยและไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
กกต.เปิดช่องทางอุทธรณ์สิทธิ แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผ่าน 2 ขั้นตอน ดังนี้
1. ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ส.28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจําตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
2. ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แจ้งช่องทาง การอุทธรณ์ แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าไปลงทะเบียนอุทธรณ์สิทธิเลือกตั้งได้โดย ผ่านทางเว็บไซต์ bora.dopa.go.th
หากไม่ยื่นอุทธรณ์เลือกตั้ง จะเสียสิทธิอะไรบ้าง ?
หากใครไม่ไปเลือกตั้ง ไปเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ทันเวลา และไม่ได้แจ้งเหตุฯ หรือแจ้งเหตุฯแล้วแต่เหตุนั้นไม่สมควร กฎหมายกําหนดให้เสีย 5 สิทธิ สรุปดังต่อไปนี้
- สิทธิในการยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
- สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้าน
- ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น