กรมอุตุฯ เตือนพายุขึ้นฝั่งเมียนมา กระทบไทย 13-14 พ.ค. 66 เตรียมเข้าฤดูฝนเร็ว ๆ นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนอัปเดตเส้นทางพายุบริเวณอ่าวเบงกอล ล่าสุดวันนี้ 10 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเช้า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้พัฒนาแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และมีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน เช้าวันพรุ่งนี้ (11/5/66) กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเมียนมาตอนบนในวันที่ 13 -14 พ.ค. 66
แม้ศูนย์กลางของพายุจะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้ลมใต้ ลมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะด้านตะวันตก ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ไปถึงวันที่ 14 พ.ค.66 ยังต้องระมัดระวัง ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ กลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวจากตะวันตกไปทางตะวันออก เริ่มมีสัญญาณการเตรียมเข้าสู่ฤดูฝน
ทั้งนี้รายงานลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงข้างหน้า ระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยอันดามัน ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10-14 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นดีเปรสชั่นแล้ว และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป คาดว่าจะเคลื่อนเข้าบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ้มขึ้น
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งดังกล่าว