โชว์บัตรประชาชนคนอื่น ผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่ เช็กข้อบังคับใช้

โชว์บัตรประชาชนคนอื่น ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ เปิดข้อบังคับใช้ PDPA คลายข้อสงสัยในประเด็นร้อน คำนิยามของ ข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร พร้อมแจกแจงข้อเท็จจริง การกระทำแบบไหนถึงเข้าข่ายผิด PDPA ทีมงานไทยเกอร์มาตอบข้อสงสัยให้คุณแล้วที่นี่
ข้อบังคับใช้ PDPA โชว์ข้อมูลบัตรประชาชนคนอื่น เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อนี้หรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุไว้ว่า PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อ คุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูล ปกป้องเจ้าของข้อมูลจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงจากการรวบรวม เก็บ หรือเปิดเผยข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ อีกด้วย
กล่าวคือองค์กรต่าง ๆ จะสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจำกัด ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ขณะเก็บหรือก่อนเก็บข้อมูลเท่านั้น ห้ามมีการใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้
ข้อมูลส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง
ข้อมูลส่วนบุคคลในกฎหมาย PDPA แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป คือ ข้อมูลที่ทำให้ระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลได้ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขประจำตัวประชาชน อีเมล บัญชีธนาคาร ฯลฯ
2. ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว คือ ข้อมูลที่เสี่ยงทำให้เจ้าของข้อมูลถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้ เช่น ศาสนา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อ ข้อมูลสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ฯลฯ
ดังนั้น ข้อมูลในบัตรประชาชนจึงเป็นข้อมูลที่กฎหมาย PDPA ให้ความคุ้มครอง ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีทั้งข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป และข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุไว้ตั้งแต่เก็บข้อมูล

นอกจากนี้กฎหมาย PDPA ยังระบุไว้อีกด้วยว่า การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะต้องให้ความอิสระในการเลือกของเจ้าของข้อมูลมาเป็นอันดับแรก กล่าวคือ ไม่ว่าเจ้าของข้อมูลจะยินยอมหรือไม่ ก็สามารถเข้ารับบริการได้
ทั้งนี้องค์กรที่รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อาจเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นได้ หากมีเหตุผลอันชอบธรรม ได้แก่ ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการเปิดข้อมูลเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย เป็นต้น

เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมก่อนนำไปใช้ทุกครั้งหรือไม่
PDPA ระบุว่าเจ้าของไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอมทุกครั้ง หากการใช้ข้อมูลอยู่ใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
- เป็นการทำตามสัญญา
- เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
- เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิต และ/หรือ ร่างกายของบุคคล
- เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยหรือสถิติ
- เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือ สิทธิของตนเอง
ดังนั้นการจะพิจารณาว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกนำมาเปิดเผยนั้น ผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่ จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

บทลงโทษ หากกระทำผิดกฎหมาย PDPA
พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ระบุว่าหากกระทำผิดข้อบังคับ PDPA ผู้กระทำผิดจะมีความผิดทั้งทางแพ่ง โทษทางปกครอง รวมถึงโทษทางอาญา และมีบทลงโทษ ดังนี้
ความผิดทางแพ่ง : ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ได้รับจริง และศาลสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่เกินสองเท่าของสินไหมทดแทนที่แท้จริง
โทษทางปกครอง : ไม่ขอความยินยอม ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ โทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่แจ้งวัตถุประสงค์ในการใช้งานใหม่ โทษปรับไม่เกิน 3,000,000 บาท, เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โทษปรับไม่เกิน 5,000,000 บาท
โทษทางอาญา : เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือผิดจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท
สรุปแล้ว โชว์บัตรประชาชนผู้อื่นผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่ คำตอบคือ ผิด หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุไว้ตั้งแต่เก็บข้อมูล
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้ข้อมูลด้วย หากเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกิจกรรมในครอบครัวของเจ้าของข้อมูล เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสาธารณะ เพื่อประโยชน์ทางกฎหมาย หรือเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม ก็จะไม่เข้าข่ายผิดข้อบังคับใช้ PDPA นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : stopcorruption.moph.go.th, bot.or.th