ทำความรู้จัก “ลูกเห็บคืออะไร” พร้อมที่มาสาเหตุของการเกิดลูกเห็บในช่วงฤดูร้อน สามารถเกิดขึ้นบริเวณไหนบ้าง พร้อมวิธีการเช็กสภาพอากาศก่อนเกิดพายุลูกเห็บ
หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออก ประกาศเตือน พายุฤดูร้อนฉบับที่ 5 เรื่องพายุฤดูร้อนที่กำลังเข้ามาถึงนี้ ในระหว่างวันที่ 23 – 26 เมษายน 2566 ที่จะส่งผลให้จะเกิดทั้งพายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกและพายุลูกเห็บตามมา หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว ลูกเห็บนี่คืออะไรกัน วันนี้ ทีม Thaiger จะพาไปดูถึงสาเหตุของการเกิดลูกเห็บนั้นคืออะไร และจะเกิดในช่วงฤดูใดกันบ้างครับ
ลูกเห็บคืออะไร ทำไมจึงเกิดลูกเห็บหลังอากาศร้อน ?
ลูกเห็บ หรือชื่อในภาษาอังกฤษ Hail ลักษณะของลูกเห็บคือก้อนน้ำแข็ง ที่มีขนาดประมาณ 5 – 50 มิลลิเมตร (0.2 – 2.0 นิ้ว) ที่เกิดจากมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวสูงขึ้น แล้วพัดเม็ดฝนไปปะทะมวลอากาศเย็นด้านบน ซึ่งมักเกิดขึ้นในเมฆกลุ่ม “คิวมูโลนิมบัส” ที่จะส่งผลให้เม็ดฝนนั้นจะจับตัวเป็นเม็ดน้ำแข็งที่ลักษณะเป็นก้อนที่เมื่อเวลาหล่นลงมาจะถูกมวลอากาศร้อนด้านล่าง ที่ส่งผลให้ความชื้นเข้าจับตัวและมีลักษณะที่ใหญ่ขึ้น จนถึงระดับที่น้ำหนักนั้นเยอะจนตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก
ในส่วนของ ปัจจัยที่เป็น สาเหตุของการเกิดลูกเห็บ จะมีมากในช่วงฤดูร้อน เพราะมวลอากาศที่ร้อนและการทรงตัวของอากาศที่ไม่เสถียร อากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง และ อากาศมีความชื้นสูง ซึ่งจะมีมากในพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อน ที่จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม โดยที่จะเกิดส่วนมากในภูมิภาค ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ภาคอื่นๆก็สามารถเจอได้เช่นกันหากพายุฝนฟ้าคะนองพัดลูกเห็บมา
วิธีดูสภาพอากาศก่อนเกิด “พายุลูกเห็บ”
การสังเกตการณ์เกิดของพายุลูกเห็บนั้น เราสามารถดูได้จาก ปัจจัยหรือประกาศที่จะมี พายุฝนฟ้าคะนองและเมื่ออากาศในฤดูร้อนที่เริ่มเย็นลง นั่นอาจจะเป็นสัญญาณในการเกิดลูกเห็บได้ นอกจากนี้ข้อควรระวังคือขนาดของลูกเห็บที่อาจมีขนาดใหญ่จนสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินได้ และระวังบุตรหลานกินลูกเห็บเข้าไปเนื่องจากคิดว่าลูกเห็บมีประโยชน์ ลูกเห็บอาจมีสารปนเปื้อนอันตรายได้ ดังนั้นควรป้องกัน หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของต่าง ๆ ภายนอกที่พักอาศัย และดูแลบุตรหลานให้ดีครับ