ที่ประชุม กต. มีมติ พล.อ.สมชาย ชัยวณิชยา พ้นจากตำแหน่ง
พลเอก สมชาย ชัยวณิชยา ก.ต.บุคคลภายนอก ประกาศถูกพ้นจากตำแหน่ง หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2566 มติเอกฉันท์ เหตุขาดคุณสมบัติ ปกปิดการถูกดำเนินคดี
เมื่อวานนี้ วันอังคารที่ 18 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2566 โดยมี นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ เป็นประธานกล่าวถึงวาระสำคัญ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ พิจารณาคุณสมบัติของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 36(3)
มีมติเอกฉันท์ ให้ พล.อ.สมชาย ชัยวณิชยา ก.ต. จากบุคคลภายนอกพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ กรณีปกปิดการถูกดำเนินคดีที่มีผลต่อคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ก.ต. ขณะลงสมัคร
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายเชาว์ มีขวด โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ค ระบุข้อความดังนี้
“ขอบคุณ ก.ต. ปลด พลเอก ส.ออกจาก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้ว
ตามที่ผมได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับคุณสมบัติของพลเอกสมชาย ชัยวณิชยา ที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ) เนื่องจากมีคดีติดตัวถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงและกรรโชกทรัพย์และยังมีคดีฟ้องร้องกันไปมาในศาลอีกหลายคดี ถือเป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ในวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา จึงยื่นเรื่องขอให้กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม สอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของพลเอกสมชาย
ล่าสุด เมื่อวานนี้(18 เมษายน) ที่ประชุม ก.ต. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ พล.อ.สมชาย ชัยวณิชยา ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ กรณีปกปิดการถูกดำเนินคดีที่มีผลต่อคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ก.ต. ตามพรบ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาตรา 41 (5)แล้ว จึงขอขอบคุณกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมทุกท่านที่ช่วยกันขจัดคนที่มีมลทินมิให้เข้าสู่องค์กร ก.ต. คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย
“การไม่เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียน ที่เกี่ยวพันกับบุคลากรในองค์กรศาล ที่จะส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยมีการพิจารณาและมีมติอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรศาล ยังคงเป็นที่พึ่ง ที่หวังให้กับประชาชนได้ และอยากให้นำกรณีนี้มาเป็นตัวอย่างในการสอบทานบุคลากรที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรศาลด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาย้อมแมวเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรม”
อ้างอิง : 1