หากวันนี้ใครใช้งาน Google คงจะได้เห็นภาพ Google Doodle ที่ปรากฏภาพของสตรีท่านหนึ่งกับเครื่องทอผ้ากันอย่างแน่นอน ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามของหญิงท่านนี้ก็คือ แสงดา บัณสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2529 สาขาการทอผ้านั่นเอง
เหตุใดวันนี้ วันที่ 14 เมษายน แสงดาจึงได้ขึ้นมาอยู่บน Google Doodle มาร่วมถักทอเรื่องราวของสตรีผู้มอบความรักอย่างยิ่งใหญ่ให้ผืนผ้า ผ่านผลงาน ประวัติ ของแสงดาไปพร้อมกับทีมงานไทยเกอร์กันเลย
Google Doodle วันนี้ขอเสนอ แสงดา บัณสิทธิ์ ฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 104 ปี
แสงดา บัณสิทธิ์ เธอเกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2462 เป็นบุตรคนเดียวของนายหมวก และนางคำมูล แสงดาเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่โดยกำเนิด เธอไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนเลย แต่อาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนกับลุง จนสามารถอ่านออกเขียนได้
เหตุที่ทำให้แสงดารักการทอผ้า เนื่องมาจากตอนเล็ก ๆ เด็กหญิงแสงดาได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณยายของเธอ หรือที่เรียกว่า อุ๊ยเลี่ยม ซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ด้านการทอผ้า และย้อมผ้าจากสีธรรมชาตินั่นเอง
ต่อมาในปี 2480 แสงดาในวัย 18 ปี ได้สมรสกับนายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ โดยเธอได้นำความสามารถด้านการทอผ้ามาใช้งานพื้นฐานในครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อเกิดเหตุผ้าขาดตลาด อันเป็นผลกระทบมาจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แสงดากับแม่ของเธอก็ได้พัฒนาผ้าทอที่เรียกว่า ผ้าเปลือกไม้ ซึ่งเป็นผ้าที่มีสีกากี มาใช้สำหรับตัดชุดข้าราชการให้สามีและกลุ่มเพื่อน และยังคงจับงานด้านการทอผ้าเรื่อยมา
จนกระทั่งนายดาบมาลัย ผู้เป็นสามีจากไปในปี 2503 แสงดาจึงต้องหาทางยืนด้วยลำแข้งของตนเองให้ได้ เธอเริ่มสะสมกี่สำหรับทอผ้ามาเป็นสมบัติของตนเอง จนเวลาผ่านไป 1 ปี แสงดาก็มีกี่ทอในครอบครองมากถึง 5 หลัง เธอได้ชักชวนเพื่อนบ้านมาร่วมกันทอผ้าขาย โดยในช่วงแรก ๆ กิจการทอผ้ายังไม่เป็นที่นิยมนัก ได้แต่ทำแจกญาติมิตร เพื่อนสนิท และลูกหลานเท่านั้น
แต่ต่อมาเกษตรอำเภอจอมทองได้นำผลงานการทอผ้าของแสงดาและกลุ่มแม่บ้าน ไปแสดงที่สวนบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงได้นำไปขายที่ร้าน บ้านไร่ไผ่งาม ซึ่งเป็นกิจการร้านขายเครื่องจักสานของบุตรสาวของแสงดา ทำให้ผ้าทอจากบ้านไร่ไผ่งามเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนในปี 2520 กิจการทอผ้าก็รุ่งเรืองมากขึ้น เพราะ Mr.Kenji นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นรวมถึงร้านจิตรลดา ต้องการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากไปวางขาย ทำให้แสงดาไม่สามารถผลิตได้ทัน เพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ อีกทั้งงานหัตถกรรมย่อมต้องใช้เวลากว่าจะสร้างงานขึ้นมาได้แต่ละชิ้น
แสงดาจึงเริ่มคิดหาทางแก้ ด้วยการชวนชาวบ้านปลูกฝ้ายสีตุ่น ซึ่งเธอจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด รวมถึงจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผลิตผ้าฝ้ายทอมือเป็นของตนเอง ถือได้ว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่คิดอ่านได้ไกลมากทีเดียว
เอกลักษณ์ในงานผ้าทอมือของแสงดาไม่เหมือนกับที่ไหน เพราะเธอคือศิลปินที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ทั้งลวดลาย เทคนิคการย้อมสีผ้าธรรมชาติ ไม่ว่าใครอยากจะเรียนรู้ แสงดาก็จะตอบรับด้วยความยินดี และพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่ผู้ที่สนใจอย่างไม่มีหวงเลย
แสงดามีความเชื่อเกี่ยวกับการทอผ้าของเธอว่า เธอปั่นทอผ้าด้วยความรักและความตั้งใจจะช่วยเหลือเพื่อนบ้านให้มีรายได้ ไม่ได้มุ่งหวังความร่ำรวยจากการทอผ้าเลย
ด้วยความรักในงานทอผ้า และฝีมือในการพัฒนาวงการการทอผ้า ทำให้แสงดาได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การถักทอ) ประจำปี พ.ศ. 2529 รวมถึงศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในปีเดียวกัน
นอกจากนี้แสงดายังได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในปี พ.ศ. 2530 อีกด้วย
แสงดายังคงยืนหยัดอยู่ในความรักด้านการทอผ้า จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุได้ 74 ปี
ถือได้ว่าแสงดาคือสตรีที่มีคุณูปการต่อวงการการทอผ้าของไทยเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 104 ปีของแสงดา จึงไม่แปลกใจเลยที่เธอจะได้รับเลือกให้เป็นบุคคลสำคัญที่ปรากฏอยู่บน Google Doodle เช่นนี้.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยไทย