บริษัทดัง เลิกจ้างพนักงาน กว่า 1 พันชีวิตเคว้ง เซ่นพิษโควิด ยืนยันจ่ายชดเชย
บริษัทดัง ประกาศ เลิกจ้างพนักงาน 1 พันคน หลังปรับลดสายการผลิต เซ่นพิษโควิด-19 พร้อมยืนยันจ่ายค่าชดเชย-สิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม ตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 มีรายงานว่า ตามที่ทาง บริษัทแคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 1,060 คนในที่ผ่านมา (มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2566)
ล่าสุดทางบริษัทชี้แจงว่า การดำเนินการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาสถานการณ์การโควิด-19 (COVID-19) แพร่ระบาด ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อภาคการผลิตสินค้า และภาคขนส่ง เป็นเหตุทำให้ต้นทุนในการประกอบกิจการสูงขึ้น รวมถึงวิกฤตการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรม หรืออิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาตามลำดับจนปี 2566 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับลดแก้ไขปัญหาด้านกำลังการผลิต ทำให้มีจำนวนพนักงานเกินความต้องการ (ในสายการผลิต) จึงมีความพยายามที่จะปรับสภาพการทำงานลง และลดจำนวนเวลาทำงานของพนักงานลง ในแบบที่ 2 รวมถึงกะทำงานต่อวัน (12 ชั่วโมง), เป็นแบบ 3 กะทำงาน (ทำงาน 8 ชั่วโมง) ซึ่งการปรับสภาพการทำงานครั้งนี้จะไม่กระทบกับค่าจ้างรายวันของพนักงาน รวมทั้งบริษัทได้เพิ่มเงินพิเศษที่จ่ายเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน
และที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้พยายามชี้แจงให้พนักงานทุกคนรับทราบถึงความจำเป็นและสภาพการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น เหตุผลการปรับเปลี่ยนเวลาการทำงาน จากทำงานแบบ 2 กะ เป็นทำงานแบบ 3 กะ แต่เนื่องด้วยยังมีพนักงานบางส่วนที่ไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ดังนั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. บริษัทฯ จึงจัดให้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน หน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวงแรงงาน ฝ่ายปกครอง และตัวแทนจากฝ่ายลูกจ้าง เพื่อหาทางออกร่วมกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เชิญผู้แทนจากสถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกประเภทกะการทำงานที่ต้องการ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับและต้องการปรับสภาพทำงานเป็นแบบ 2 กะ คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 85, พนักงานบางส่วน ยังคงต้องการทำงนแบบ 3 กะ คิดเป็นจำนวนร้อยละ15
“จากผลการลงคะแนนสำรวจความคิดเห็นของพนักงานนั้น แสดงให้เห็นว่า พนักงานส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ และยอมรับการปรับสภาพการทำงานเป็น 2 กะ อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวการณ์และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทางบริษัทฯจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วนที่เกินความต้องการในสายการผลิต เพื่อให้บริษัท ฯ ยังดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง
ทั้งนี้ บริษัทก็ได้ชี้แจงให้ทราบถึงผลการเลือก 2 กะ อย่างชัดเจนแล้ว และได้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเรื่องการทำงาน อีกทั้งยังทำงานร่วมกับสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และผู้แทนสถานทูตของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยในการดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง และกระบวนการเลิกจ้างตามสิทธิที่มีอยู่ในสัญญาจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตามบริษัทฯก็ได้จ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามกฎหมาย”
แคล-คอมพ์ฯ บริษัทดังระบุด้วยว่า โดยหากพนักงานที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศต้นทาง (เมียนมา) จะดำเนินการส่งพนักงานกลับประเทศ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเดินทางทั้งฝั่งไทย (ด่านแม่สอด) และฝั่งเมียนม่า กลับภูมิลำเนาเดิมของคนงาน
นอกจากนนั้นยังได้ตั้งศูนย์ประสานงานบริการ เพื่อให้การช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลฯ คอยให้บริการฯ ทั้งให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ก็เพื่อประสานงานต่างๆและดูแลเหลือคนงานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน