ชวนทำความรู้จัก ประวัติ “วันจักรี” วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี อีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย และวันหยุดราชกาประจำปี พร้อมกิจกรรมพิธีการที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาชน
เปิดประวัติ “วันจักรี” ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี หรือ “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” และ “วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์” คือหนึ่งในวันสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จัดขึ้นระลึกถึงการก่อตั้งราชวงศ์จักรี และการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของสยาม (ประเทศไทย) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ในหลวงรัชกาลที่ 1) นอกจากนี้ในวันที่ 6 เมษายน วันจักรี ยังเป็นวันหยุดราชการ ธนาคาร และพนักงานเอกชน ประจำเดือนเมษยนอีกด้วย ปีนี้วันจักรีตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2566
ดังนั้น ในบทความนี้ ทีมงาน Thaiger จะขอแนะนำประวัติความเป็นมา เนื่องในวันก่อตั้งราชวงศ์จักรี 6 เมษายน ว่าทำไมจึงเป็นวันสำคัญต่อชาวไทย ถ้าพร้อมแล้วก็เข้ามาอ่านในนี้กันได้เลยครับ
ประวัติ “วันจักรี” 6 เมษายน
“วันจักรี” ภาษาอังกฤษคือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 (ในหลวงรัชกาลที่ 1) เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ทำให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จึงเป็นครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีอีกด้วย
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของ “วันจักรี” ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้จัดพิธีถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรยปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น
หลังจากที่ได้ทำการประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล ให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้ง “พระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป” ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันนั้นว่า “วันจักรี”
ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีกาซ่อมแซม และประดิษฐานพระบรมรูป 5 รัชกาล พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ปีนั้น ซึ่งต่อมาก็คือวันจักรี ในปัจจุบันนั่นเอง
“วันจักรี” หมายถึงอะไร?
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จกรีฑาทัพกลับพระนคร ทรงรับอัญเชิญเสด็จขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เนื่องในวันจักรี จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2462 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชบันทึกเหตุการณ์นี้ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช 2462 ความตอนหนึ่งว่า
“บ่ายวันนี้ได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ในปราสาทพระเทพบิดร ในเวลาที่เราไป ก็ยังมีข้าราชการและประชาชนอยู่มาก และได้ข่าวว่าตั้งแต่เช้ามีคนเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปเป็นอันมาก…งานนี้นับว่าเป็นพระเกียรติยศงดงามดีมาก เพราะผู้คนไปอย่างแน่นหนา…เราได้ให้เรียกวันนี้ว่า วันจักรี”
จึงกลายเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ทุกรัชกาลสืบมากระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน เข้าถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี.
อ้างอิง : 1