เช็กกำหนดการ “เช็งเม้ง” ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันอังคารที่ 4 และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 ตามปฏิทินจีนจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนจะมารวมตัวกันในช่วงเวลานี้เพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษและขอพรให้เกิดความมงคลแก่ชีวิต
“วันเช็งเม้ง” หรือ “วันกวาดสุสาน” เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน จัดขึ้นเพื่อกราบไหว้บูชาและขอพรความเป็นสิริมงคลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยบการเยี่ยมเยียนและทำความสะอาดหลุมศพ ถวายอาหาร และจุดเครื่องหอม พร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด สำหรับเทศกาลเช็งเม้งในประเทศไทยปีพ.ศ. 2566 นี้ เริ่มไหว้ ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 ถึงวันพุธที่ 5 เมษายน 2566 และจัดเทศกาลไปจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ตั้งแต่วันพุธที่ 19 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 รวมระยะเวลาจัดประเพณีเช็งเม้งทั้งหมด 20 วัน
กำหนดการ “เทศกาลเช็งเม้ง” 2566 เริ่มวันไหน
เทศกาลเช็งเม้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจีนโบราณ มีรูปแบบพิธีกรรมกราบไหว้และกำหนดการจัดงานเทศกาลแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคที่มีชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐาน ทั้งนี้สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนบางครอบครัวก็เริ่มจัดเทศกาลเช็งเม้งเร็วขึ้น โดยขยับเริ่มต้นไหว้บรรพบุรุษในวันพุธที่ 15 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่หนาแน่น และรักษามาตราการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 แต่ในกำหนดการเดิมตามปฏิทินจีน จะเริ่มจัด “พิธีเช็งเม้ง” ในวันอังคารที่ 4 ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 นั่นเองครับ
การจัดเทศกาล “เช็งเม้ง” ต้องทำอะไรบ้าง เตรียมตัวยังไง
วัฒนธรรมที่ลูกหลานของชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องปฏิบัติทำในเทศกาล “เช็งเม้ง” ประจำปี 2566 และนับจากนี้ในทุก ๆ ปี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เตรียมทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษให้สะอาดผุดผ่องดุจจิตใจอันดีงามของครอบครัว
- ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจไปกระทบกับตำแหน่งตามหลังฮวงซุ้ย ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อเรื่องทิศทางอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ หรือ ทิศทางอัปมงคล ฯลฯ
- จัดการตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ ทั้งการทาสีป้ายชื่อใหม่โดยใช้สีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว พร้อมกับนำกระดาษม้วนสีรุ้งมาตกแต่งให้สวยงาม และไม่ควรปักธงบนหลังเต่า เพราะเชื่อว่าจะทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่วน้ำซึม
- กราบไหว้เจ้าที่ประจำฮวงซุ้ย เพื่อเป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแลวิญญาณบรรพบุรุษ
- กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษทุกท่าน
- เผากระดาษเงิน-กระดาษทอง และจุดประทัด
- จากนั้นขั้นตอนสุดท้าย ให้ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกัน เพื่อแสดงความสามัคคีและรักใคร่กลมเกลียวแก่บรรพบุรุษ และจุดประทัด เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลเช็งเม้ง
ประวัติวันเช็งเม้ง
“เทศกาลเช็งเม้ง” มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปถึงราชวงศ์ถัง ระหว่าง ค.ศ. 618-907 เดิมทีเป็นวันที่ผู้คนจะออกไปข้างนอกเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเล่นว่าว ปลูกต้นไม้ และร้องเพลงร่วมกับสมาชิกในครอบครัว
เมื่อเวลาผ่านไป เทศกาลเช็งเม้งเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับการบูชาบรรพบุรุษ ความเชื่อที่ว่าในช่วงเวลานี้วิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับสู่โลกของคนเป็น และสิ่งสำคัญคือต้องเซ่นไหว้ด้วยอาหารและสิ่งของอื่น ๆ
นอกจากการกวาดหลุมฝังศพและการบูชาบรรพบุรุษแล้ว เทศกาลเช็งเม้งยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่ไม่ได้เจอหน้าค่าตากันมานั้น ก็ได้ถือโอกาสในวันเช็งเม้งสำหรับพบปะครอบครัวอีกด้วย