กยศ.ออกกฎใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำ-ลดเบี้ยปรับ 0.5% มีผลบังคับใช้แล้ว
รัฐบาลประกาศ กฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำ-ลดเบี้ยปรับ 0.5% มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
อีกหนึ่งความสำเร็จของคณะรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการผลักดันพระราชบัญญัติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ให้สำเร็จ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา
ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไตรศุลี ไตรสรณกุล ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวดีนี้ผ่านเฟซบุ๊ก ความว่า “บังคับใช้แล้ว ลดเบี้ยปรับ กยศ.เหลือ 0.5% ไม่ต้องมีผู้ค้ำ
พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพิ่มให้กู้ยืมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill พร้อมเปลี่ยนลำดับตัดชำระจากเดิม เป็นตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
สำหรับการลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วกองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% ซึ่งผู้กู้ยืมเงินจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายหรือได้รับผลกระทบใดๆ”
ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น พร้อมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาบุคลากรของประเทศชาติเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนไทยในลำดับต้นตลอดการทำงานที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับที่ 2 นี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการศึกษาในทุกประเภทเพื่อรองรับการเรียนรู้ โดยถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรที่เปรียบเสมือนอนาคตของประเทศชาติต่อไป”